ดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (15 มิ.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.37% แตะที่ 105.1630
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.09 เยน จากระดับ 135.32 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9984 ฟรังก์ จากระดับ 1.0030 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2928 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2966 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0424 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0414 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2124 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1973 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6978 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6864 ดอลลาร์สหรัฐ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537
ใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์เฟดระบุว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ในระยะยาว
ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดแถลงข่าวหลังการประชุมว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือนก.ค. แต่เขาไม่ได้หมายความว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จะกลายเป็นเรื่องปกติ
คาร์ล ชามอตตา นักวิเคราะห์จากบริษัทคอร์เพย์กล่าวว่า ถ้อยแถลงของนายพาวเวลเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการที่เฟดปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนเม.ย.
ด้านสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 2 จุด สู่ระดับ 67 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยการร่วงลงของดัชนีดังกล่าวมีสาเหตุจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองและต้นทุนในการก่อสร้าง
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, การเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพ.ค., และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.