บ.สวีเดนในไทยเดินหน้า ให้สิทธิผู้ชายลาเลี้ยงลูก

บ.สวีเดนในไทยเดินหน้า  ให้สิทธิผู้ชายลาเลี้ยงลูก

เพราะธรรมชาติกำหนดให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายตั้งท้อง หน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกจึงตกเป็นของพวกเธอไปโดยปริยาย แต่ในเมื่อสังคมมนุษย์มีอารยะมากกว่าการดำรงอยู่เพียงแค่ด้วยสัญชาตญาณ การให้สิทธิผู้ชายลาเลี้ยงลูกย่อมเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของสังคมพัฒนาแล้ว

สวีเดนเป็นประเทศแรกในโลก ที่ริเริ่มให้มีการลาเลี้ยงดูลูกโดยยังได้รับค่าจ้างแก่ทั้งพ่อ และแม่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 โดยพ่อ และแม่ในสวีเดนมีสิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูลูกโดยได้รับค่าจ้างเป็นจำนวน 480 วัน เมื่อมีลูกหรือเมื่อรับเลี้ยงลูกบุญธรรม ในจำนวนวันลาดังกล่าว พ่อ และแม่สามารถตกลงแบ่งวันกันได้ตามที่เห็นสมควรเป็นจำนวน 390 วัน โดยสามารถใช้วันลาได้อย่างยืดหยุ่นจนกระทั่งลูกอายุ 8 ขวบ

ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า เขาเกิดใน พ.ศ.2518 หนึ่งปีหลังจากสวีเดนอนุญาตให้ผู้ชายลาเลี้ยงลูกได้ พ่อของเขาจึงเป็นผู้ชายสวีเดนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับสิทธินั้น และเมื่อทูตเกรินดาห์ลได้เป็นพ่อ ก็ได้สิทธิพิเศษลาเลี้ยงดูลูกสาว และทำงานบ้านเป็นเวลาหกเดือน 

"ตอนสวีเดนใช้นโยบายนี้แรกๆ ผู้คนก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน ด้วยความที่ยังไม่ชิน แต่นโยบายนี้ไม่ได้ส่งผลลบกับใคร และไม่ได้บังคับ ตอนแรกก็ไม่ค่อยมีใครกล้าลาจนกระทั่งคนเริ่มชิน" ทูตกล่าว

 ปัจจุบันนโยบายดีๆ แบบนี้ขยายวงมาสู่ประเทศไทยด้วย สัปดาห์ก่อนสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย  Business Sweden ประเทศไทย และ หอการค้าไทย-สวีเดน ร่วมมือกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสวีเดน 12 บริษัท อาทิ IKEA, Volvo, ABB, Electrolux, AstraZeneca และ Atlas Copco ริเริ่มโครงการที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย นั่นคือ บริษัทเหล่านี้ได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะให้พนักงานชายได้มีโอกาสลาเลี้ยงดูลูกเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน โดยยังได้รับค่าจ้างเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

เอกชัย ชาครสกุล ผู้จัดการฝ่ายบุคคล จาก Electrolux ประเทศไทย กล่าวว่า  Electrolux มีธุรกิจทั่วโลก ก่อนเปิดตัวโครงการได้ปรึกษาพนักงานในบริษัทก่อน Paternity Leave เป็นโครงการริเริ่มที่ดีมาก การให้ผู้ชายได้เลี้ยงลูกเป็นเรื่องที่ดี และปัจจุบัน Electrolux มีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายอยู่แล้ว เมื่อนโยบายเกิดการปฏิบัติจริงย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดี 

รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร กมลศิริพิชัย ที่ปรึกษาอาวุโส จากโกลบอล บั๊กส์เอเชีย เล่าว่า  โกลบอลบัคส์เป็นสตาร์ทอัพทำงานเพื่อชุมชนที่หัวหิน คนงานเป็นคนละแวกนั้น ต่อไปเมื่อบริษัทขยายกิจการมากขึ้น การอนุญาตให้ผู้ชายลาเลี้ยงลูกได้ถือเป็น incentive อย่างหนึ่ง ทำให้คนในท้องถิ่นอยากมาร่วมงานกับบริษัท ถือเป็นนโยบายที่เหมาะมากกับธุรกิจในต่างจังหวัด 

ฟังความเห็นจากตัวแทนบริษัทสวีเดนในประเทศไทยแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า ท่านทูตเคยขายไอเดียนี้ให้กับผู้กำหนดนโยบายของไทยหรือไม่ พวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไรหากผู้ชายจะลาไปเลี้ยงลูก ทูตสวีเดนเล่าว่ายังไม่เคยไปคุยตรงๆ แต่เคยเล่าให้ฟังว่าสวีเดนมีนโยบายแบบนี้ การที่บริษัทสวีเดนในไทยทั้ง 12 แห่งมาร่วมให้คำมั่นถือเป็นการเริ่มต้นให้รัฐบาลไทย และหน่วยงานอื่นๆ พูดถึงนโยบายผู้ชายลาเลี้ยงลูกได้มากขึ้น 

"การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องใช้เวลา อย่างที่สวีเดนจำนวนวันลาค่อยๆ เพิ่มจาก 1 เดือน เป็น 2 เดือน  3 เดือน ปัจจุบันลาได้ 480 วัน  ตอนนี้พ่อสวีเดน 30% ใช้สิทธิลาเลี้ยงลูก เราไม่ได้มาสอนว่าต้องทำแบบนี้ เพียงแค่มาบอกว่าสวีเดนทำแบบนี้ โดยมีงานวิจัยรองรับว่าการที่พ่อลาเลี้ยงลูกมีผลทางเศรษฐกิจอย่างไร"

ส่วนจะมีการติดตามทั้ง 12 บริษัทว่าปฏิบัติตามที่ให้คำมั่นไว้หรือไม่นั้น ทูตสวีเดนกล่าวว่า บริษัทที่ลงนามให้คำมั่นทำโดยความสมัครใจไม่ถูกบังคับ  สถานทูตไม่จำเป็นต้องตามเพราะเชื่อใจกัน แต่เวลาเจอกันอาจมีการถามไถ่ความคืบหน้ากันบ้าง 

“สถานทูตจะใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ เห็นใครทำอะไรดีๆ ก็จะเอามาโชว์บนเฟซบุ๊ก”   ท่านทูตตอบ 

ในประเด็นนี้ Sanjay Safaya ผู้จัดการประจำภูมิภาค  จาก Atlas Copco ประเทศไทย ยืนยันว่า บริษัทมีสาขาอยู่ทั่วโลก ให้สิทธิผู้ชายลาเลี้ยงลูกในทุกประเทศ 

“เราต้องกำชับตัวเองว่าต้องทำตามคำมั่นสัญญาเพราะเราเองก็เชื่อในสิ่งนี้อยู่แล้ว” 

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์