"โอมิครอน" สร้างภาวะลองโควิด น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น

"โอมิครอน" สร้างภาวะลองโควิด  น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น

“อังกฤษ” เปิดผลวิจัยชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดภาวะลองโควิด (long COVID) น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ระบาดก่อนหน้านี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอนได้ทำการศึกษาโดยใช้ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน ZOE COVID Symptom พบว่า โอกาสของการเกิด ภาวะลองโควิดหลังจากติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในอังกฤษนั้นได้ลดลง 20-50% เมื่อเทียบกับการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวขึ้นอยู่กับอายุ และระยะเวลาการฉีดวัคซีนครั้งล่าสุดของผู้ป่วย

ภาวะลองโควิดจะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และอาการดังกล่าวจะดำเนินต่อไปหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บรรดานักวิจัยต่างเร่งค้นหาคำตอบว่า การติดเชื้อไวรัสโอมิครอนมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะลองโควิดเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้หรือไม่

ทีมวิจัยระบุว่า การศึกษาของมหาวิทยาลัยคิงส์ถือเป็นงานวิจัยทางวิชาการชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสโอมิครอนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดภาวะลองโควิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จำนวนผู้ป่วยลองโควิดกำลังลดน้อยลงแต่อย่างใด

ขณะที่ความเสี่ยงของการเกิดภาวะลองโควิดลดลงในช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน แต่เมื่อประชาชนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นจำนวนผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ดร.แคลร์ สตีฟส์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวเรียกร้องกับบรรดาผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขว่า “การค้นพบครั้งนี้นับเป็นข่าวดี แต่ได้โปรด อย่ายกเลิกบริการใด ๆ ที่เกี่ยวกับภาวะลองโควิด”

สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยเมื่อเดือนพ.ค.ว่า ประชาชนจำนวน 438,000 คนในประเทศมีอาการลองโควิดหลังติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งคิดเป็น 24% ของผู้ป่วยลองโควิดทั้งหมด