กลางมิ.ย.นี้ "โควิด-19" เข้าสู่ระยะ "โรคประจำถิ่น" เร็วกว่าคาดการณ์
กลางมิ.ย.นี้โควิด19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น สธ. เผยสถานการณ์ โควิด19 ดีขึ้นมาก เข้าสู่โรคประจำถิ่นเร็วกว่าคาดการณ์กว่าครึ่งเดือน พร้อมปรับระบบดูแลรักษาผู้ป่วย-เตรียมรองรับ Long COVID ลองโควิด
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามกำหนดกว่าครึ่งเดือน จึงให้ทุกหน่วยงานเตรียมวางแผนการดำเนินงานรองรับ โดยเฉพาะเรื่อง ระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงลดลงอย่างมาก ความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กรมการแพทย์ ได้เสนอปรับการดูแลในรูปแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง จะรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ในโรงพยาบาล เน้นการเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ยังเตรียมพร้อมการดูแลภาวะลองโควิด โดยกรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการคัดกรองและการประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงวางระบบดูแลรักษาติดตามอาการ สิ่งสำคัญคือ มีการบูรณาการการรักษาภาวะลองโควิดไปยังทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง มีช่องทางการให้คำปรึกษาส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล และเก็บข้อมูลผู้ป่วยภาวะลองโควิดรายสัปดาห์หรือรายเดือน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ ให้สามารถเดินหน้าเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับ มาตรการด้านกฎหมายและสังคมจะมีการปรับให้สอดคล้องเช่นกัน เช่น การปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การปรับลดมาตรการต่างๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายใต้วิถีชีวิตใหม่ บนหลักการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคได้ โดยเฉพาะการคงหลักพฤติกรรมสุขอนามัยที่พึงประสงค์ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าไปในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี มีคนรวมตัวกันหนาแน่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรือมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย การล้างมือบ่อยๆ คัดกรองตนเองเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ ขณะที่สถานประกอบการและกิจการต่างๆ ยังต้องเข้มการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาด จัดการขยะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย ไม่เฉพาะแค่โรคโควิด 19 แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย
เกณฑ์พิจารณาโรคประจำถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดเกณฑ์การพิจารณาเป็น โรคประจำถิ่น ของโควิด19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผ่านความเห็นชอบ ศบค. เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565 ได้แก่
1. ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย ในวงกว้างกันอย่างเต็มที่ โดยวิธีการดู คือ ดูแนวโน้มการติดเชื้อ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก อัตราการครองเตียง ระดับ 2 และระดับ 3
2.การฉีดวัคซีนโควิด19 ครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรรวม ฉีดเข็มกระตุ้นได้ มากกว่า 60 % ของประชากรตามสิทธิ์การรักษา โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 80 % จากประชากรตามสิทธิการรักษา ได้รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60%ขึ้นไป ก่อน 1 ก.ค.2565
และ3. จำนวนผู้เสียชีวิต โดยคิดคำนวณจากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด19 หารด้วยผู้ป่วยโรคโควิด19ที่รับการรักษา คูณด้วย 100 จะต้องน้อยกว่า 0.1 % รายสัปดาห์ ช่วง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน
คาดกลางมิ.ย.โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ สธ.ได้มีการเสนอ ระยะดำเนินการแผนและมาตรการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข โดยแบ่งการบริหารจัดการ โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นหรือPost pandemic เป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 Combatting ต่อสู้ ช่วง12มี.ค.-ต้นเม.ย.2565
ระยะที่2 Plateau คงตัว ช่วงเม.ย.-พ.ค.2565
ระยะที่3 Declining ลดลง ช่วงปลายพ.ค.-30มิ.ย.2565
และระยะที่ 4 Post Pandemic โรคประจำถิ่น/โรคติดต่อทั่วไป ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป
ฉะนั้น เมื่อสธ.ระบุว่าโควิด-19 น่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็วกว่าคาดการณ์ราวครึ่งเดือน จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางมิ.ย.2565 เนื่องจากคาดการณ์ คือ 1 ก.ค.2565