'ราคาอาหารแพง'อันตรายของชาติกำลังพัฒนา
'ราคาอาหารแพง'อันตรายของชาติกำลังพัฒนา โดยประธานาธิบดีอินโดฯระบุว่า "สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือราคาอาหารเราต้องการให้สงครามในยูเครนจบลง ปัญหานี้ต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการเจรจา เพื่อให้เราฟื้นฟูเศรษฐกิจได้"
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า สงครามในยูเครนจำเป็นต้องยุติลง เนื่องจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาอาหารและพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น และทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงอินโดนีเซีย ตกอยู่ในความเสี่ยง
ปธน.วิโดโดให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือราคาอาหาร ดังนั้นเราต้องการให้สงครามในยูเครนจบลง ปัญหานี้ต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการเจรจา เพื่อที่เราจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ หากไม่เช่นนั้น มันจะไม่มีทางจบ วิกฤตการณ์ครั้งนี้เป็นอันตรายมากกับหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”
ทั้งนี้ ผู้นำอินโดนีเซียระบุว่า สงครามควรจะได้รับการแก้ไขผ่านการเจรจาและพูดคุย
ปธน.วิโดโดจะเข้าร่วมการประชุมกับกลุ่มจี7 ที่ประเทศเยอรมนีในวันที่ 26-28 มิ.ย. ส่วนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานว่า ปธน.วิโดโดมีกำหนดพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียในวันที่ 30 มิ.ย.
“หลังการประชุมจี7 ผมจะเดินทางเยือนหลายประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านอาหาร” ปธน.วิโดโดกล่าวกับมาร์ติน ซูง ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี อย่างไรก็ตาม ปธน.วิโดโดไม่ได้ยืนยันว่าจะเดินทางเยือนรัสเซียหรือยูเครนหรือไม่ โดยทั้งสองประเทศเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของโลก
ในฐานะประธานกลุ่มจี20 ในปีนี้ อินโดนีเซียจะจัดประชุมผู้นำประเทศที่บาหลีในเดือนพ.ย. และแม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ถอดรัสเซียออกจากกลุ่มจี20 แต่อินโดนีเซียก็ได้เชิญปธน.ปูตินเข้าร่วมการประชุมด้วย ขณะเดียวกันก็ได้เชิญประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนเข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ รัสเซียเป็นสมาชิกกลุ่มจี20 แต่ยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิก ซึ่งทางปธน.วิโดโดกล่าวว่า “ปัญหาในขณะนี้คือสงคราม ดังนั้นเราจำเป็นต้องเชิญยูเครนเข้าร่วมประชุมจี20 เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาได้”
ขณะที่สงครามในยูเครนเริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลก ผู้บริโภคในอินโดนีเซียก็เริ่มวิตกกังวลมากขึ้นว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นในการซื้อหาอาหารรับประทาน โดยเฉพาะบะหมี่สำเร็จรูปอาหารโปรดของผู้บริโภคส่วนใหญ่
แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานประจำกิจการทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย กล่าวในการประชุมประจำปี เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ในเมืองดาวอส ช่วงปลายเดือนพ.ค.ว่าราคาบะหมี่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความไม่มั่นคงของข้าวสาลีโลกอันเนื่องมาจากการสู้รบในยูเครน
ในความคิดคำนึงของแอร์ลังกาตอนนั้นน่าจะหมายถึงอินโดมี บะหมี่สำเร็จรูปยอดนิยมจากอินโดฟู้ด ซักเซส มักเมอร์ บริษัทในเครือซาลิม กรุ๊ป บริษัทอุปโภค-บริโภคชั้นนำของอินโดนีเซีย โดยบะหมี่สำเร็จรูปเป็นอาหารประจำชาติของชาวอินโดนีเซีย และอินโดมีก็เป็นบะหมี่สำเร็จที่มีรสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภคส่วนใหญ่แถมยังมีราคาถูก
ในปี 2564 ชาวอินโดนีเซียบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปมากถึง 13.27 พันล้านห่อต่อหัวประชากร รองจากผู้บริโภคชาวจีนที่บริโภคบะหมี่ในปริมาณ 43.99 พันล้านห่อต่อหัวประชากร
ราคาอาหารในอินโดนีเซียมีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะข้าวสาลีซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการทำบะหมี่สำเร็จรูปอินโดมี มีราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 11,600 รูเปี๊ยะห์ นับจนถึงวันที่ 8 มิ.ย. เพิ่มขึ้น 13%
ร้านอาหารจำหน่ายบะหมี่อินโดมีในราคาเฉลี่ย 2,800 รูเปี๊ยะห์ ซึ่งถือเป็นราคาที่ไม่แพงมากในประเทศที่มีค่าแรงรายเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200 ดอลลาร์
ด้านอินโดฟู้ดได้อานิสงส์จากการที่ราคาผลิตภัณฑ์อาหารหลายตัวของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทในปี2564 ปรับตัวขึ้นสูงสุดเพราะได้แรงหนุนจากยอดขายบะหมี่อินโดมี เนื่องจากเป็นอาหารที่มีความสะดวกรวดเร็วในการรับประทานช่วงที่ผู้คนต้องอยู่แต่ในบ้านเพราะโรคโควิด-19 ระบาด
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะมีการปรับขึ้นราคาบะหมี่สำเร็จรูปยอดฮิต เจ้าหน้าที่ของบริษัทอินโดฟู้ด บอกว่าบริษัทจะคำนึงถึงราคาวัตถุดิบ ส่วนประกอบ เศรษฐกิจประเทศและอำนาจการซื้อของผู้บริโภคในการพิจารณาขึ้นราคาสินค้า
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นราคาบะหมี่สำเร็จรูปอินโดมีจริงจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอนและจะเป็นตัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย
“แม้ราคาบะหมี่สำเร็จรูปจะปรับเพิ่มขึ้นแค่ 500 รูเปี๊ยะห์ก็จะส่งผลกระทบอย่างมาก ตอนนี้ผมทานบะหมี่อินโดมีสามหรือสี่ห่อต่อสัปดาห์แต่ผมต้องรับประทานน้อยลงเหลือแค่หนึ่งหรือสองห่อต่อสัปดาห์” เจ้าหน้าที่กล่าว
ก่อนที่อินโดนีเซียจะเจอแรงกดดันเรื่องราคาบะหมี่สำเร็จรูปปรับตัวขึ้น ประเทศนี้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ได้ประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกคำประกาศนี้ไปแล้ว
น้ำมันปาล์ม เป็นสินค้าที่มีการบริโภคและเป็นส่วนประกอบของการผลิตสินค้ามากที่สุดในโลก ตั้งแต่การประกอบอาหาร ไปจนถึงการผลิตเครื่องสำอาง
ประธานาธิบดีวิโดโด ของอินโดนีเซีย ให้เหตุผลในการระงับส่งออกน้ำมันปาล์มในตอนนั้นว่า ต้องการสต๊อกไว้ให้มากที่สุดเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
ก่อนตัดสินใจระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม อินโดนีเซีย มีปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มในประเทศอย่างรุนแรง จนส่งผลให้ราคาพุ่งขึ้น และส่งผลกระทบไปทั่วโลกเพราะการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกน้ำมันพืชทั่วโลก มีจีนและอินเดีย เป็นผู้ซื้อรายใหญ่