เปิดฉากประชุมผู้นำ G7 เน้นหารือวิกฤติยูเครน
การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G7 เปิดฉากขึ้นแล้ววานนี้ (26 มิ.ย.) ที่เยอรมนี การประชุมเป็นเวลาสามวันคาดว่าจะเต็มไปด้วยเรื่องสงครามในยูเครนและผลกระทบทุกอย่างนับตั้งแต่การขาดแคลนพลังงานไปจนถึงวิกฤติอาหาร
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ของเยอรมนีต้อนรับผู้นำจากอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐ ซึ่งการประชุมG7 ปีนี้หนักหนาสาหัสกว่าปีก่อนตอนที่เหล่าผู้นำพบกันครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาด และต่างให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูประเทศให้ดีขึ้นแต่ปีนี้ราคาน้ำมันและอาหารกำลังสูงขึ้นทั่วโลก สร้างความเสียหายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผลจากรัสเซียรุกรานยูเครน
เมื่อวันศุกร์ (24 มิ.ย.) สหประชาชาติเตือนถึงวิกฤติคนอดอยากทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การประชุมรอบนี้จึงเป็นโอกาสให้ผู้นำ G7 แสดงพลังสนับสนุนยูเครนตราบเท่าที่จำเป็น และเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเครมลิน แม้ไม่อยากคว่ำบาตรที่เป็นสาเหตุให้เงินเฟ้อสูงซ้ำเติมวิกฤติค่าครองชีพซึ่งส่งผลต่อประชาชนของตนเอง
“สารหลักจากG7 คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและกระทำการร่วมกัน แม้ในช่วงเวลาอันยากลำบาก เราก็ยึดมั่นกับพันธมิตร” เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปรายหนึ่งเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์
แหล่งข่าววงในอีกรายเผยพันธมิตรG7 เตรียมเห็นชอบห้ามนำเข้าทองคำจากรัสเซีย ต่อมาแหล่งข่าวรายหนึ่งจากรัฐบาลเยอรมนีกล่าวเสริมว่า เหล่าผู้นำหารือกันอย่างสร้างสรรค์ถึงความเป็นไปได้ในการควบคุมราคาน้ำมันนำเข้าจากรัสเซีย
รวมถึงทางเลือกในการแก้ปัญหาราคาพลังงานสูงทุกขณะ การนำเข้าก๊าซและน้ำมันจากแหล่งอื่นทดแทนรัสเซีย
การประชุมผู้นำG7 รอบนี้จัดขึ้นที่ปราสาทSchloss Elmau เชิงเขาZugspitze ภูเขาที่สูงที่สุดในเยอรมนี ที่เดียวกับการประชุมในปี 2558 ตอนที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุด ตอนนั้นประเด็นรัสเซียแข็งกร้าวกับยูเครนก็เป็นประเด็นหลักของการประชุม เนื่องจากจัดขึ้นหนึ่งปีหลังรัสเซียรุกรานไครเมีย
การประชุมครั้งนี้ยังเป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในฐานะเจ้าภาพแสดงภาวะผู้นำมากขึ้นในวิกฤติยูเครน เขาให้คำมั่นปฏิวัตินโยบายต่างประเทศและกลาโหมหลังรัสเซียรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. รับปากว่าจะใช้กองทุน 1 แสนล้านยูโรเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพและส่งอาวุธไปช่วยยูเครน
G7 ก่อตั้งขึ้นในปี 1975 (พ.ศ.2518) เป็นเวทีให้ประเทศร่ำรวยที่สุดมาหารือกันเรื่องวิกฤติ เช่น โอเปกไม่ขายน้ำมัน ต่อมากลายเป็นG8 เมื่อรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้วหกปี แต่ต่อมาถูกระงับสมาชิกภาพในปี 2014 (พ.ศ.2557) จากการผนวกไครเมียของยูเครนเป็นของตนเอง