‘ปรามอิทธิพลรัสเซีย-จีน’ภารกิจหลักผู้นำจี7
‘ปรามอิทธิพลรัสเซีย-จีน’ภารกิจหลักผู้นำจี7 โดยทั้ง 7 ชาติเตรียมสกัดอิทธิพลจีนด้วยการทุ่มงบ 600,000 ล้านดอลลาร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา
การประชุมสุดยอดประจำปีของกลุ่มชาติมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม 7 ประเทศ หรือ จี-7 เปิดฉากขึ้นในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ (26 มิ.ย.)ที่โรงแรมชลอส เอลมาว บริเวณเทือกเขาบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ผู้นำทั้ง 7 ประเทศได้แก่
- ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจากสหรัฐ
- ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส
- นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ
- นายกรัฐมนตรีมาริโอ ดรากี ของอิตาลี
- นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา
- นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น
- นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ เจ้าภาพ เยอรมนี
พร้อมกับแขกพิเศษได้แก่ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป(อีซี) และชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป หารือร่วมกันในประเด็นสำคัญ ๆ ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย.
ปีนี้ มี 2 ประเด็น ที่เข้ามามีอิทธิพลบดบังวาระการประชุมคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับการขยายอิทธิพลของจีน
รัสเซียกำลังจะถูกลงโทษเพิ่มเติม หลังมติในที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าจะออกคำสั่งห้ามนำเข้าทองคำจากรัสเซีย เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัสเซียเลิกทำสงครามในยูเครน โดยจะออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม เพราะทองคำเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัสเซีย เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 รองจากพลังงาน
เมื่อปี 2564 รัสเซียมีรายได้จากการส่งออกทองคำ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ การห้ามนำเข้าทองคำจะทำลายความสามารถในการทำธุรกรรม ในระบบการเงินโลกของรัสเซีย แต่คำสั่งห้ามจะมีผลกับทองคำที่ขุดใหม่หรือสกัดใหม่ ไม่มีผลต่อทองคำที่ส่งออกมาจากรัสเซียก่อนหน้านี้
ในส่วนของจีนนั้น ผู้นำจี-7 มีแผนที่จะยับยั้งการขยายอิทธิพลของจีน ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเข้าไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่ ถนนหนทาง ตลอดจนสะพานและสนามบิน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road initiative) ที่จีนหวังเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป
ทั้ง 7 ชาติ เตรียมสกัดด้วยการทุ่มงบ 600,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมาจากโครงการริเริ่มของไบเดน 200,000 ล้านดอลลาร์ ที่รวมทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในแองโกลา สร้างโรงงานผลิตวัคซีนในเซเนกัล, สร้างสายเคเบิลโทรคมนาคมสื่อสารใต้ทะเล ที่จะเชื่อมดินแดนตะวันออกไกล (Far East) กับฝรั่งเศสผ่านอิยิปต์, สร้างโรงงานนิวเคลียร์รูปแบบใหม่ให้แก่โรมาเนีย ที่เล็กกว่าและราคาถูกกว่าแบบเดิม โดยยืนยันว่าประเทศเหล่านี้ได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าโครงการของจีน ที่พ่วงภาระหนี้มาด้วย
ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐจะมอบเงินทุน 2 แสนล้านดอลลาร์ ให้กับกองทุนของรัฐบาลกลางและเอกชนในช่วง 5 ปีข้างหน้าเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางที่ช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงยกระดับสุขภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลทั่วโลก
“ผมขอพูดให้ชัดเจน สิ่งนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือหรือการกุศล มันเป็นการลงทุนที่จะมอบผลตอบแทนให้กับทุกคน” ไบเดนกล่าวพร้อมเสริมว่า เงินทุนดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ “เห็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในการเป็นพันธมิตรกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย”
ไบเดน ระบุด้วยว่า เงินทุนเพิ่มเติมอีกหลายแสนล้านดอลลาร์จะมาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ และอื่น ๆ
ด้านฟอน เดอร์ เลเยน ประธานอีซี ก็รับปากว่า ยุโรปจะสนับสนุนเงินทุน 3 แสนล้านยูโรสำหรับโครงการนี้ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเช่นกัน เพื่อสร้างทางเลือกที่ยั่งยืนแทนที่โครงการ BRI ของจีนที่ประธานาธิบดีสี เริ่มทำในปี 2556
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้นำอิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น ระบุเกี่ยวกับแผนการของประเทศตัวเองเช่นกัน โดยบางประเทศได้ประกาศแผนการแยกต่างหากไปแล้ว
ส่วนประธานาธิบดีมาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ของอังกฤษก็ยืนยันว่าจะเข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า สหรัฐ มีแนวโน้มที่จะประกาศเรื่องการซื้อระบบขีปนาวุธพิสัยกลางถึงไกลที่ยิงจากภาคพื้นสู่อากาศให้กับยูเครนในสัปดาห์นี้
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สหรัฐมีแนวโน้มประกาศมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ให้กับยูเครนด้วย ซึ่งรวมถึงการจัดสรรเครื่องกระสุนปืนใหญ่และเรดาร์ตรวจการณ์แบตเตอรี เพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพยูเครน โดยอาวุธชุดดังกล่าวเป็นความช่วยเหลือรอบล่าสุดที่สหรัฐเสนอให้กับยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียยกพลบุกพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนในเดือนก.พ.
ในเดือนนี้ ไบเดนได้จัดหาความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงระบบจรวดขั้นสูงซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายระยะไกลได้อย่างแม่นยำ
ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐ เปิดเผยว่า อาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งรวมถึงกระสุน เรดาร์ตรวจจับการยิง เรดาร์สอดแนมทางอากาศ, ขีปนาวุธต่อต้านรถถังแจฟลิน (Javelin) และอาวุธต่อต้านยานเกราะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุนทางการทหารยูเครนครั้งนี้เช่นกัน
แต่สหรัฐก็ระงับการขายโดรนติดอาวุธขนาดใหญ่ 4 ลำให้กับยูเครนเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ เพราะวิตกกังวลว่า อุปกรณ์เรดาร์และสอดแนมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงต่อสหรัฐ หากตกไปอยู่ในมือของรัสเซีย