ดาวโจนส์วูบ 491 จุดเหตุดัชนีความเชื่อมั่นทรุดทุบตลาด
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(28มิ.ย.)ร่วงลง 491 จุด หลังผลสำรวจบ่งชี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทรุดตัวลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 491.27 จุด หรือ 1.56% ปิดที่ 30,946.99 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 78.56 จุด หรือ 2.01% ปิดที่ 3,821.55 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 343.01 จุด หรือ 2.98% ปิดที่ 11,181.54 จุด
ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในช่วงแรก โดยหุ้นกลุ่มเปิดเมือง เช่น สายการบิน เรือสำราญ โรงแรม และกาสิโน ต่างดีดตัวขึ้น ขานรับจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19
ทั้งนี้ จีนประกาศลดระยะเวลากักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในสถานที่ซึ่งรัฐบาลจัดเตรียมไว้เหลือเพียง 7 วัน จากเดิม 14 วัน ส่วนการกักตัวที่บ้านพักหลังจากนั้นได้ลดลงเหลือเพียง 3 วัน จากเดิม 7 วัน
การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวมีขึ้น หลังจากนครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
หุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้นเช่นกัน โดยมีการประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผล หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่าธนาคารส่วนใหญ่ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test)
อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง หลังผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐทรุดตัวลงสู่ระดับ 98.7 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 100.0 จากระดับ 103.2 ในเดือนพ.ค.
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดิ่งลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และความวิตกที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันร่วงลงสู่ระดับ 147.1 ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้าดิ่งลงสู่ระดับ 66.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2556
การที่ดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 80 บ่งชี้ถึงการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมทั้งมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยในช่วงสิ้นปี
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า, สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
นักลงทุนจับตาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/65 ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.5% จากเดิมรายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.3%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2563 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
หากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2/65 ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค.
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ บ่งชี้ว่า ราคาบ้านในสหรัฐได้เริ่มชะลอตัวในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 20.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าระดับ 20.6% ในเดือนมี.ค.
ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 21.1% ในเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ดี มีเพียง 9 ใน 20 เมืองที่รายงานราคาบ้านเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เมืองส่วนใหญ่ใน 20 เมืองรายงานการเพิ่มขึ้นของราคาบ้าน
นักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอตัวลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองดีดตัวขึ้น ส่งผลให้ยอดขายบ้านและราคาบ้านปรับตัวลง ขณะที่สต็อกบ้านเริ่มเพิ่มมากขึ้น