"ร้าน 100 เยน" ในญี่ปุ่น เสี่ยงล่มสลาย เซ่นพิษ "เงินเยน" ร่วงหนัก
ความยิ่งใหญ่ของ “ร้าน 100 เยน” ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจที่ผูกติดกับสินค้าถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปนานเกือบ 30 ปี กำลังเริ่มเข้าสู่ “การล่มสลาย” ท่ามกลางหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยหลักอย่างค่าเงินเยน ที่ร่วงหนักในขณะนี้
เงินเยนอ่อนค่าซึ่งดันต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น รวมถึงราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการร้าน 100 เยนในญี่ปุ่น อย่าง “ไดโซะ อินดัสทรีส์ โค” (Daiso Industries Co.) “ซีเรีย โค” (Seria Co.) และผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาพแวดล้อมเงินเฟ้อ
- เครดิตรูป : FB เพจ Daiso Japan -
ตลาด 2.5 แสนล้าน ดิ้นรนหนัก
ตลาดร้าน 100 เยนของญี่ปุ่น ซึ่งมี มูลค่า 9.5 แสนล้านเยน หรือเกือบ 2.5 แสนล้านบาท กำลังดิ้นรนเพื่อหาวิธีส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ให้เสียกลุ่มลูกค้ารุ่นที่เคยชินกับภาวะเงินฝืด สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายสุดหิน เนื่องจากค่าแรงของผู้บริโภคก็ไม่ได้สูงขึ้นตาม
ก่อนหน้านี้ ความพยายามของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในการกระตุ้นเงินเฟ้อมานกว่า 10 ปี ไม่ได้ทำให้เกิดวงจรเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรายได้และราคาที่เพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าและบริการต่าง ๆ
“ถูกกว่า 1 เยน” คือสิ่งที่ มิโนรุ อากาอิเกะ พนักงานบริการ วัย 40 ปี และผู้บริโภคคนอื่น ๆ มองหาเมื่อไปร้าน 100 เยน เมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาเพิ่งแวะไปที่ร้าน Daiso ในเมืองมิตากะ ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว เพื่อตามหาฟองน้ำล้างจานในราคาที่ถูกกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น
ร้าน 100 เยนของญี่ปุ่นได้กลายเป็นวิธีแสนสะดวกในการซื้อสินค้า เช่นเดียวกับ “ร้าน 1 ดอลลาร์” ในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ร้านค้าในญี่ปุ่นแตกต่างจากร้านในสหรัฐตรงที่มีระดับรายได้ที่หลากหลาย และจำหน่ายทุกอย่างตั้งแต่เครื่องสำอาง เครื่องเขียน ไปจนถึงเครื่องครัว และอาหารแมว
- เครดิตรูป : FB เพจ Daiso Japan -
ท้าทายโมเดลธุรกิจ ร้าน 100 เยน
ผู้จัดการร้าน “B-One” ซึ่งเป็นร้าน 100 เยนในเขตคันดะของโตเกียว เปิดเผยว่า บรรดาซัพพลายเออร์พยายามที่จะขึ้นราคาสินค้าที่ส่งให้กับร้านมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน เงินเยนที่อ่อนค่าและต้นทุนพลังงานและวัสดุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยากต่อการรักษารูปแบบธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับอัตรากำไรขั้นต้นและปริมาณการขายที่สูง
นอกจากนี้ ผู้จัดการร้านรายเดิม บอกว่า ซัพพลายเออร์ถุงขยะรายหนึ่งได้ปรับขึ้นราคาสินค้าเมื่อไม่นานนี้ ดังนั้น ผู้ผลิตจึงลดจำนวนถุงขยะลง 5 ถุง/แพ็ก แทนการส่งต่อต้นทุนนี้ไปยังผู้บริโภค
ขณะที่ Seria ซึ่งดำเนินการร้านค้าราว 1,700 แห่งทั่วประเทศ คาดการณ์ว่า จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 4.2% สำหรับปีงบการเงินที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2566 พร้อมกับเตือนว่า จะมีผลกำไรจากการดำเนินงานลดลง 16% มาอยู่ที่ 1.75 หมื่นล้านเยน (ราว 4,600 ล้านบาท)
ส่วน Can Do Co. ผู้ประกอบกิจการร้าน 100 เยนอีกราย ระบุในงบการเงินล่าสุดว่า เงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจยังมีความท้าทาย เนื่องจากต้นทุนวัสดุทั่วโลกที่สูงขึ้นและสถานการณ์สงครามในยูเครน
- เครดิตรูป : AFP -
คูนิ คานาโมริ นักวิเคราะห์ด้านค้าปลีกของบริษัท SMBC Nikko Securities Inc. กล่าวว่า ในอดีต ร้าน 100 เยนสามารถตอบสนองต่อกรณีเงินเยนอ่อนค่าและต้นทุนวัสดุที่สูงขึ้น โดยการเปลี่ยนขนาดและปริมาณของบรรจุภัณฑ์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องยากขึ้น เนื่องจากซัพพลายเออร์ไม่คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงราคาอย่างกะทันหัน หลังจากประสบแต่ช่วงที่มีเสถียรภาพมานาน
นอกจากนั้น บริษัทญี่ปุ่นหลายราย บอกว่า สามารถส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับลูกค้าโดยเฉลี่ยเพียง 44% จากการสำรวจโดยบริษัทวิจัย Teikoku Databank เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และพบว่า ประมาณ 15% ของบริษัทจากหลายอุตสาหกรรมที่ถูกสำรวจ กล่าวว่า ไม่สามารถส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับลูกค้าได้
-------------------------
ที่มา: Bloomberg