ถอดรหัสจัดการ ‘แม่น้ำโคโลราโด’ ฝ่าวิกฤติเทียบเคียงแม่น้ำโขง
แม่น้ำโคโลราโดหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 40 ล้านคนใน 7 รัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ รวมทั้งอินเดียแดง 29 ชนเผ่า และประชาชนเม็กซิโก เมื่อเปรียบเทียบแม่น้ำโคโลราโดกับแม่น้ำโขงมีความคล้ายคลึงกันในแง่การไหลของน้ำไม่ปกติ และการเมืองภายในซับซ้อน เพราะต้องการใช้ประโยชน์น้ำ
ปัจจุบันแม่น้ำนี้เป็นแหล่งน้ำชลประทานครอบคลุมกว่า 13.9 ล้านไร่ เพื่อใช้ในการเกษตร แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลต่อระดับน้ำและสร้างความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำ จนเป็นกรณีศึกษาให้แม่น้ำสายอื่นๆ ทั่วโลกที่เผชิญวิกฤติคล้ายคลึงกันได้
หนึ่งใน 7 รัฐที่สายน้ำโคโลราโดไหลผ่านคือ “แคลิฟอร์เนีย” รัฐขนาดใหญ่ มีเศรษฐกิจที่โตเป็นอันดับ 5 ของโลก มีรายได้อยู่ที่ 2.5 - 3 ล้านล้านต่อปี และแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐหนึ่งที่ต้องแชร์การใช้น้ำในแม่น้ำโคโลราโด ที่ตอนนี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาระดับน้ำลดลงไปมาก แม้รัฐแคลิฟอร์เนียจะมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่อาจวางใจต่อสถานการณ์ภัยแล้ง และน้ำท่วมที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของแคลิฟอร์เนียได้
“ศาสตราจารย์เจ อาร์.ลันด์” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ลุ่มน้ำแห่งมหาวิทยาลัยยูซีเดวิด และศูนย์นโยโบายน้ำของสถาบันนโยบายน้ำแห่งแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้การจัดการน้ำยากกว่าเดิมอย่างมาก เมื่อฤดูร้อนยาวนานขึ้น อากาศร้อนขึ้น ระดับน้ำน้อยลง สวนทางกับความต้องการใช้น้ำมากขึ้น 2-3 เท่าต่อคน ทำให้ประชาชนต้องตระหนักรู้และปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจุบันนี้ ได้มีการจัดสรรน้ำในแม่น้ำโคโลราโดให้กับประชาชนแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่ ประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนีย 20% และอีก 60% ให้กับภาคการเกษตร หากแต่เรายังเจอกับปัญหาดินทรุดทำให้ขณะนี้มีการออกกฎหมายห้ามใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นไปกว่าเดิม เพราะขณะนี้ มีการใช้น้ำบาดาล 40-50% ของการใช้น้ำในพื้นที่ โดยตั้งเป้าใช้น้ำบาดาลลดลงอยู่ที่ 20% ภายในปี 2583
แคลิฟอร์เนีย มีระบบบริหารจัดการน้ำที่สลับซับซ้อน ประกอบหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบกว่า 3,000 แห่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 100 แห่งที่เป็นหน่วยงานรัฐ ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนมีความร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่งที่ทำให้มั่นใจว่า จะแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการดำเนินการให้รุดหน้าไปได้
“หลักนิติธรรมมีความสำคัญมากในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะประชาชนในทุกๆมลรัฐจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในของตนเอง และดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญประเทศ รวมทั้งให้ตรงตามกฎระเบียบของรัฐบาลกลาง” ศ.อาร์.ลันด์กล่าวและเสริมว่า การหารือระหว่างประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จะทำให้มั่นใจว่าการตีความของพวกเขาถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเรามีระบบการกระจายอำนาจที่ประสานเชื่อมการทำงานไร้รอยต่อ
เช่นเดียวกัน เราต่างก็ต้องเรียนรู้การทำงานในระบบสหพันธรัฐที่แต่ละมลรัฐก็ต้องพูดคุยและร่วมมือกัน เพราะมีความแตกต่างกันทั้งพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ และระดับน้ำที่เป็นโจทย์ท้าทายให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานประจำมลรัฐและชุมชนได้ปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางไปใช้ได้จริง
แต่ละมลรัฐต้องเผชิญข้อถกเถียงระหว่างกัน เพราะต่างก็ต้องการจัดสรรน้ำให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ ความต้องการน้ำดื่ม ซึ่งบางชุมชนที่ยากจนต้องเจอกับคุณภาพน้ำที่ยากต่อการแก้ไข และความสะอาดเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยตามที่รัฐบาลกลางกำหนดไว้ แม้ว่าขณะนี้ เราจะประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายน้ำดื่ม แต่เราก็อาจพ่ายแพ้ต่อการบริหารจัดการน้ำท่ามกลางสถานการณ์โลกร้อน
มองในแง่ดี การมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นในพื้นที่ได้ทำให้นักการเมืองหันมาสนใจปัญหาของชุมชน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับแคลิฟอร์เนียเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน สร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจราว 9,000 ล้านดอลลาร์ เดิมต้องมีรายได้ 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี สิ่งนั้นสะท้อนถึงการบริหารจัดการน้ำไม่ดี และเราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก
แม่น้ำโคโลราโดมีดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคล้ายกับ “แม่น้ำโขง” ที่เชื่อมโยงชีวิตประชาชนสองลำน้ำตั้งแต่จีน ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และกัมพูชา ซึ่งระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติจะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและการสร้างเขื่อนก็เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการน้ำของเขื่อนที่ล้วนแต่ส่งผลต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำตั้งแต่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไปจนถึงโตนเลสาป ถ้าปล่อยน้ำน้อยจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงเหือดแห้ง หากปล่อยน้ำมากก็เข้าท่วมโตนเลสาป ส่งผลให้การชลประทานกัมพูชาได้รับความเสียหาย ตลอดจนการทำประมงและเกษตรกรรมไม่ตรงตามเป้า
“แม่น้ำโคโลราโดกับแม่น้ำโขงมีความคล้ายคลึงกันในแง่การไหลของน้ำที่ไม่ปกติ และการเมืองในพื้นที่มีความซับซ้อน เพราะต่างต้องการใช้ประโยชน์ของน้ำที่แตกต่างกัน” ศ.อาร์ ลันด์ระบุ พร้อมยกตัวอย่างว่า แม่น้ำโคลัมเบียเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือฝั่งแปซิฟิกของอเมริกาเหนือ แม่น้ำไหลจากเทือกเขาร็อกกีในรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ถือเป็นประเทศต้นน้ำไหลไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำขึ้นอยู่กับปริมาณหิมะที่ละลาย
นั่นหมายถึงโลกร้อนขึ้นย่อมส่งผลต่อระดับน้ำสูงขึ้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม ต่างไปจากก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2473-2480 สหรัฐต้องการเข้าถึงน้ำและใช้น้ำมากกว่าแคนาดา จึงใช้วิธีเจรจาสร้างเขื่อนให้กับขนาดใหญ่ให้กับแคนาดาเพื่อกักเก็บน้ำ และระหว่างเส้นทางของแม่น้ำโคโลราโดในสหรัฐได้สร้างเขื่อนขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อให้ในทุกๆ มลรัฐมีน้ำใช้ในทุกพื้นที่เพียงพอ
ส่วนแม่น้ำโคโลราโดไหลจากสหรัฐไปยังเม็กซิโก ซึ่งทางการสหรัฐได้ใช้วิธีเจรจาเพื่อจัดสรรน้ำให้กับเม็กซิโกที่ถือเป็นประเทศปลายน้ำ โดยเรามีกลไกเพื่อคำนวนปริมาณน้ำใช้จัดสรรน้ำให้กับ 7 มลรัฐได้ใช้ตามความเหมาะสมกับจำนวนประชากรในพื้นที่ และต้องจัดสรรน้ำให้กับเม็กซิโก 15% แต่ว่าเม็กซิโกไม่มีวิธีการจัดการน้ำที่ดีพอ ทำให้น้ำที่ไหลไปยังเม็กซิโกทั้งหมดได้ก่อให้เกิดน้ำท่วม
ศ.อาร์ ลันด์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเคลื่อนไหวของสหรัฐในเรื่องบริหารจัดการน้ำ ก่อนแคนาดาและเม็กซิโก ย่อมนำความได้เปรียบมาสู่สหรัฐ และช่วยให้สหรัฐมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการบริหารจัดการน้ำที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศเพื่อนบ้าน