เปิดเอกสารสำคัญไทยกับสหรัฐ “บลิงเคน - ดอน” ลงนาม 2 ฉบับ
"แอนโทนี บลิงเคน" เข้าหารือดอน ปรมัตถ์วินัย กระชับสัมพันธ์สองประเทศและลงนามเอกสาร 2 ฉบับ เดินหน้ากระชับความร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และตั้งเป้าหมายอนาคตในอีก 190 ปีข้างหน้าร่วมกัน
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในระหว่างวันที่ 9 - 10 ก.ค. 2565 โดยเมื่อเวลา 9.30 น.ในวันนี้ ได้เข้าหารือทวิภาคีกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างไทย - สหรัฐให้แน่นแฟ้นขึ้น ท่ามกลางความมุ่งมั่นฟื้นฟูเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ภายหลังนายดอนและนายบลิงเคนได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยนายบลิงเคนกล่าวว่า การหารือมีประสิทธิผลต่อความสัมพันธ์และผลประโยชน์ของประชาชนไทยกับสหรัฐ หนึ่งในนั้นเราจะทำงานร่วมกันในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด
ทั้งสองจะได้ลงนามเอกสาร 2 ฉบับคือ
1.แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (Thailand - Us communique on strategy alliance and partnership) นี่เป็นฉบับที่สอง สะท้อนความสัมพันธ์2 ประเทศที่จะครบรอบ 190 ปีในปี 2566
สิ่งนี้สะท้อนความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และพลวัตรขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ที่คำนึงถึงบริบทและความท้าทายในปัจจุบัน เน้นการมองไปข้างหน้าและลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานทดแทนต่างๆ ไซเบอร์ซิคิวรีตี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และความร่วมมือประชาชนกับประชาชน
2.บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมห่วงโซ่อันทรงคุณค่าไทยและสหรัฐอเมริกา (MOU Promoting on supply chain Resilience) ในภาคธุรกิจสำคัญของ 2 ประเทศ ที่มีความยืดหยุ่น หลากหลายและมั่นคง ตลอดจนสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นมากขึ้น
“เอกสารฉบับนี้ สะท้อนถึงผลประโยชน์ของไทยและสหรัฐที่ได้รับจากความร่วมมือเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทาน ลดการหยุดชะงักในการผลิตและขนส่ง ที่สำคัญทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศและตลาดทั่วโลกมั่นใจว่า สามารถเข้าถึงสินค้าที่สำคัญๆได้ ภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้” นายบลิงเคนระบุและกล่าวว่า เรามุ่งมั่นจะยกระดับการแบ่งปันข้อมูล การปรึกษาหารือ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกัน และเสริมสร้างความมั่นคงของทั้งสองประเทศ
ดอนกล่าวว่า นอกจากการลงนามแล้ว เราพูดคุยครอบคลุมประเด็นต่างๆ ไม่เพียงแต่ประเด็นทวิภาคีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย รวมถึงการที่สหรัฐจะรับหน้าที่เจ้าภาพเอเปค ปี2566 ต่อจากไทย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเอกสารว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา จะเป็นอิงเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ไทย-สหรัฐร่วมกัน ในการวางรากฐานสำหรับ 190 ปีข้างหน้าด้วยเช่นกัน