ไล่นายกฯ แบบผู้ดีอังกฤษ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
ถือเป็นสัปดาห์ที่น่าตกใจสำหรับคอการเมืองโลก ตั้งแต่ข่าวการลงจากตำแหน่งของนายกฯอังกฤษ และข่าวการอสัญกรรมของอดีตนายกฯญี่ปุ่นจากการลอบยิงขณะปราศรัยหาเสียง
รูปแบบการปกครองของไทยและอังกฤษนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก สองประเทศนั้นมีเอกลักษณ์ของตนเองและต่างก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ปกครองด้วยระบอบรัฐสภาโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นการเรียนรู้จากข้อเด่นและด้อยของประเทศแม่แบบประชาธิปไตยอย่างอังกฤษนั้นมีความจำเป็น
ตั้งแต่สมัยโบราณขุนนางและกษัตริย์อังกฤษขับเคี่ยวแย่งอำนาจกันจนในที่สุดฝ่ายขุนนางสามารถจำกัดอำนาจกษัตริย์อังกฤษไว้ได้ อำนาจบริหารประเทศจึงอยู่ภายใต้ระบอบรัฐสภามาอย่างช้านานหลายร้อยปี จนในปัจจุบันรัฐสภาประกอบด้วยสภา ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งและวุฒิสภา ที่มาจากการแต่งตั้งหรือโดยตำแหน่ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับไทยมาก
แต่วุฒิสภาอังกฤษนั้นทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยแล้ว อำนาจไม่มากเลยถ้าเทียบกับไทย วุฒิสภาอังกฤษไม่สามารถถอดถอนยกเลิกกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนฯได้ ทำได้มากที่สุดก็แค่ถ่วงเวลาโดยการตีกลับเพื่อให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาใหม่ ไม่ต้องพูดถึงการที่วุฒิสภาจะมามีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี ไม่มีประเทศประชาธิปไตยเต็มใบที่ไหนในโลกจะเอื้อให้กลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนจากการเลือกตั้งมีสิทธิมีเสียงมาเลือกนายกฯ
นอกจากหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองในฐานะฝ่ายบริหารแล้ว นายกฯอังกฤษ ยังมีหน้าที่ต่อรัฐสภาในการตอบกระทู้หรือที่เรียกว่า PMQs (Prime Minister’s Questions) ที่นายกต้องมาตอบคำถามตั้งแต่การบริหารบ้านเมือง กระทั่งปัญหาขี้หมูราขี้หมาแห้งแล้ว แต่จะถูกถามโดย ส.ส.ทุกสัปดาห์ที่รัฐสภาเช่นเดียวกับการเข้าเฝ้าพระราชินีเพื่อรายงานความเป็นไปของบ้านเมืองตามธรรมเนียมที่ปฎิบัติมาอย่างช้านาน ตามหลักตรวจสอบและถ่วงดุล (Check & Balance) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในหลักสำคัญของประชาธิปไตย
Check & Balance ที่มีประสิทธิภาพสามารถเป็นอีกหนึ่งกลไกในการตรวจสอบอำนาจที่มากล้นของฝ่ายบริหารและจัดการหากอำนาจนั้นส่งไปในทางทุจริตหรือไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรม เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อต้นสัปดาห์จากการลาออกของนายกฯอังกฤษ นายบอริส จอห์นสัน หลังจากมีการกดดันอย่างหนักจาก ส.ส.ในพรรคที่ลาออกจากตำแหน่งในฝ่ายบริหารกว่า 52 คน รวมไปถึงรัฐมนตรีคนสำคัญอย่างรัฐมนตรีคลังและสาธารณสุข
หากจะพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดขึ้นเพราะการบริหารงานที่ขาดคุณธรรมของหัวหน้ารัฐบาล การจัดงานปาร์ตี้ในทำเนียบขณะที่บ้านเมืองกำลังเดือนร้อนจากวิกฤติโควิด-19 การออกกฎหมายห้ามชุมนุม แต่ฝ่ายบริหารกลับทำผิดเสียเอง การบิดเบือนไม่ยอมรับข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่องของนายกฯ ตลอดจนล่าสุดเรื่องการแต่งตั้งผู้มีมลทินจากข้อร้องเรียนการล่วงละเมิดทางเพศมาเป็นรองประธานวิปรัฐบาลทั้งที่มีเสียงทัดทานอย่างหนัก
ในทางการเมืองแล้ว นายกฯอังกฤษคือผู้นำที่มีสีสันอย่างมาก และถือว่าประสบความสำเร็จในทางการเมืองอย่างยิ่งเพราะสามารถนำพรรคชนะเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดอย่างถล่มทลายเป็นประวัติศาสตร์ในรอบหลายสิบปี และเป็นผู้นำที่สามารถนำประเทศอังกฤษออกจากประชาคมยุโรปได้สำเร็จ
แต่จริยธรรมก็มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในประเทศแม่แบบประชาธิปไตย เมื่อกลไกทางรัฐสภาอย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่สามารถจัดการได้ ดังนั้น ส.ส.จึงรวมตัวกันกดดันให้นายกฯลาออกและเมื่อยังไม่เป็นผล จึงทยอยลาออกจากตำแหน่งด้วยตนเองเพื่อหวังกระแสสังคมช่วยอีกทางหนึ่ง และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ครั้งล่าสุดก็คือคราวที่นายจอห์นสันรวมทีมกดดันให้อดีตนายกฯเมย์ลาออก
ประชาชนที่เคยชื่นชอบเอาใจช่วยก็กลับเบื่อหน่ายกับคำแก้ตัวและคำโกหกของนายกฯ ส.ส.ที่ฉลาดรู้จักเอาตัวรอดจึงถือโอกาสเปลี่ยนกัปตันทีมเพื่อเตรียมความพร้อมรับศึกเลือกตั้ง ทั้งหมดทั้งมวลจึงคือสีสันและความสวยงามของประชาธิปไตยเต็มใบ