‘เมียนมา-รัสเซีย’สัมพันธ์ชื่นมื่นร่วมมือเทคโนโลยีทหารเพิ่ม
‘เมียนมา-รัสเซีย’สัมพันธ์ชื่นมื่นร่วมมือเทคโนโลยีทหารเพิ่ม แม้ชาติตะวันตกลงโทษด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมาแต่รัสเซียและจีนยังคงเดินหน้าจัดส่งอาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมา
เมียนมาและรัสเซีย สองประเทศที่กำลังถูกโดดเดี่ยวจากชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ เริ่มหันมามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันมากขึ้นโดยล่าสุด พล.อ อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ของเมียนมา ได้ทำข้อตกลงเพิ่มความร่วมมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการทหารและเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์
“ทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนมุมมองด้านต่างๆร่วมกัน รวมทั้งแสวงหาแนวทางเพิ่มความสัมพันธ์ด้านเทคโนโลยีการทหารระหว่างกันให้มากขึ้น”สื่อของทางการเมียนมา ระบุหลังจากมีการหารือระหว่างพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่ายและ'เซอร์เก ชอยกู' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย
รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญที่สุดที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ'อองซาน ซูจี' เมื่อเดือนก.พ.ปี 2564 แม้ว่าการเลือกตั้งในปี 2563 พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี)ของซูจีจะชนะเลือกตั้ง
โดยระบอบการปกครองใหม่ภายในการนำของรัฐบาลทหารเมียนมาได้รับการยอมรับจากเวทีโลกเพียงน้อยนิดและพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อครอบครองประเทศนี้ให้ได้ท่ามกลางการต่อต้านของชาวเมียนมาที่ลุกฮือประท้วงการบริหารประเทศของผู้ปกครองทหาร
แม้รัสเซียพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้การรับรองทหารเมียนมาว่าเป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้คัดค้านกับการที่เอกอัคราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารเมียนมายังคงดำรงตำแหน่งในสหประชาชาติ(ยูเอ็น) และแม้ว่าพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย เดินทางเยือนรัสเซียหลายรอบนับตั้งแต่ก่อรัฐประหาร แต่ก็ยังไม่เคยได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย
แม้ตะวันตกหลายประเทศจะลงโทษด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งบรรดานายทหารระดับสูงและผลประโยชน์ทางธุรกิจของกองทัพ แต่รัสเซียและจีนยังคงเดินหน้าจัดส่งอาวุธให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา ที่นำอาวุธที่มาจากประเทศเหล่านี้ไปเข่นฆ่าพลเมืองประเทศตัวเอง โดยในระยะเวลาไม่ถึง 18 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาได้สังหารประชาชนไปแล้วจำนวนกว่า 2,000 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกลงไปในสายสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย เมียนมาและจีน จะพบว่า จีน มีความสนิทแนบแน่นกับเมียนมามากกว่า เป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ และนักลงทุนเมียนมาและรัสเซียก็มีความสำคัญต่อกันในอันดับต้นๆ และเมียนมาเองยังแสดงจุดยืนที่จะมีส่วนร่วมกับแผนการใหญ่ๆ ของจีนมาตลอด
โดยเฉพาะ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ด้วยการเสนอเส้นทางผ่านประเทศของตนเพื่อเชื่อมต่อโครงการนี้กับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลาง
“รัฐบาลปูตินกำลังให้การช่วยเหลือและร่วมก่ออาชญากรรมสงครามกับรัฐบาลทหารเมียนมา รวมทั้งร่วมก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ”ขิ่น โอห์มาร์ ประธานองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน“โพรเกรสซีพ วอยซ์” กล่าว
ในโอกาสเยือนรัสเซียครั้งนี้ ผู้นำทหารเมียนมาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ( เอ็มโอยู ) ระหว่างรัฐบาลทหาร กับโรซาตอม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย ว่าด้วยการขยายขอบเขตความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ โดยไม่มีการให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ระหว่างเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของโรซาตอม ผู้นำทหารเมียนมาได้พบหารือกับ“อเล็กซี ลิคาเชฟ” ผู้อำนวยการของโรซาตอม เพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายขอบเขตความร่วมมือ ที่นอกเหนือจากด้านพลังงานนิวเคลียร์แล้ว ยังรวมถึงด้านเภสัชกรรม เกษตรกรรม ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหาร
เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้เข้าร่วมประชุมด้านความมั่นคง ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ก่อนเดินทางมาพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงของรัสเซีย ที่กรุงมอสโก รวมถึง พล.อ.เซอร์เก ชอยกู รมว.กระทรวงกลาโหม ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเมียนมา ว่าระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดี ในการที่เมียนมาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และไว้วางใจได้สำหรับรัสเซีย และความร่วมมือทางทหารระดับทวิภาคีถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับเมียนมา
การเยือนรัสเซียครั้งล่าสุดของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังการเยือนไทยของ“แอนโทนี บลิงเคน” รมว.ว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมา ว่ายังคงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคที่รัฐบาลวอชิงตันให้ความสำคัญและจับตาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ร่วมกันดำเนินการอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้เมียนมาปฏิบัติตามเงื่อนไขฉันทามติ 5 ข้อ
นอกจากนี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังได้พบกับ “ดมิทรี โรโกซิน” หัวหน้ารอสคอสมอส (Roscosmos) หรือองค์การอวกาศของรัสเซีย และได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เมื่อเดือน ก.พ. ที่่ผ่านมา "โธมัส แอนดรูว์" ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเมียนมา กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัสเซียได้จัดหายุทโธปกรณ์บางอย่างให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา เช่น โดรน เครื่องบินขับไล่ และยานเกราะ