'ซาอุฯ'ปรับเข็มทิศเชื่อม'โลจิสติกส์-ธุรกิจบริการ'ไทย
'ซาอุฯ'ปรับเข็มทิศเชื่อม'โลจิสติกส์-ธุรกิจบริการ'ไทย เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการขยายตลาดการค้าการลงทุนภายใต้ “วิสัยทัศน์ของซาอุดีอาระเบีย 2030”
เอกชนซาอุดีอาระเบียเดินทางลงพื้นที่ศึกษาตลาด มองหาโอกาสในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการขยายตลาดการค้าการลงทุนภายใต้ “วิสัยทัศน์ของซาอุดีอาระเบีย 2030” (Saudi Vision 2030) ที่มุ่งลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันของประเทศ ปรับเข็มทิศธุรกิจ กระจายการลงทุนในด้านใหม่ๆ ที่เน้นภาคธุรกิจบริการเป็นหลัก
กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบริษัทสยามพิวรรธน์ จัดงาน “Thai-Saudi Business Forum” ให้การต้อนรับในโอกาสที่ “ครารีม อัลอันซี” กรรมการบริหารหอการค้าเมืองริยาด นำคณะนักธุรกิจชั้นนำกว่า 90 คนในสาขาต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรม โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยว อัญมณี และการดูแลสุขภาพ เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อแสวงหาตลาดและหุ้นส่วนทางธุรกิจรายใหม่ ศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในไทย ตลอดจนปฏิสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจไทย อีกทั้งพบหารือกับผู้แทนภาครัฐของไทยเพื่อหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันต่อไป
การเยือนของคณะผู้แทนภาคเอกชนซาอุฯอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 32 ปี ภายหลังการปรับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ซาอุฯกลับสู่ปกติอย่างสมบูรณ์ภายหลังการเดินทางเยือนซาอุฯอย่างเป็นทางการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ
“ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเยือนของคณะฯ จะทำให้ภาคเอกชนซาอุฯ เห็นถึงพัฒนาการและศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย ที่สามารถเป็นหุ้นส่วนกับซาอุฯได้ พร้อมย้ำว่า วิสัยทัศน์ของซาอุดีอาระเบีย 2030 และนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ของไทยสามารถสอดรับกันได้ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันที่ยั่งยืนของทั้งสองฝ่าย
“อัลอันซี” กล่าวว่า ซาอุฯ ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการพัฒนาระบบขนส่งที่เชื่อมต่อกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับโลจิสติกส์ประเทศ รวมถึงยังทำงานใกล้ชิดกับภาคธุรกิจบริการของไทย
“การเยือนของภาคเอกชนซาอุฯครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการค้าและการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านบาทระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะด้านปุ๋ยและอุปกรณ์การเกษตร” อัลอันซีกล่าว
ดอน และอัลอันซี ร่วมเป็นสักขีพยานการในลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างภาคเอกชนไทยและซาอุฯ ประกอบด้วย 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าเมืองริยาด และ 2.บันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายในสาขาต่างๆ อาทิ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และการค้าขาย รวมทั้งสิ้น 12 ฉบับ ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป
นอกจากนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ (B2B) ระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคเอกชนไทยเป็นอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมงานฝ่ายไทยและฝ่ายซาอุฯ รวมทั้งสิ้นแล้วกว่า 300 บริษัท
ระหว่างการเยือนไทยของคณะนักธุรกิจฯ กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานและร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดกิจกรรม “EEC Business Forum” แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าภาพรวมในด้านต่างๆ ของพื้นที่ EEC และสร้างความร่วมมือกับซาอุฯในระยะถัดไป โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทย์ชั้นสูง ท่องเที่ยวสุขภาพ แปรรูปอาหาร ยานยนต์ EV เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้พาคณะนักธุรกิจฯ เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และการรับฟังบรรยายสรุปเรื่องการรักษาบาดแผลและการใช้เทคโนโลยีพลาสมาอุณหภูมิต่ำความดันบรรยากาศในการรักษาบาดแผล ณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการค้าระหว่างไทยและซาอุฯ ในปีที่แล้วมีมูลค่ารวม 2.34 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออกไปยังซาอุฯ มูลค่า 5.1 หมื่นล้านบาท แม้ไทยขาดดุลการค้าซาอุฯ เนื่องจากการนำเข้าพลังงาน และนับตั้งแต่ฟื้นความสัมพันธ์ประเทศสู่ระดับปกติ ได้ทำให้การค้าดีขึ้นด้วย เพียงแค่ 5 เดือนแรกของปี 2565 การค้าสองประเทศมีมูลค่า 1.22 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว