จับสัญญาณ ‘อิสราเอล-ซาอุดีอาระเบีย’ ปรับสัมพันธ์ปกติ
ก่อนประธานาธิบดี โจ ไบเดน เดินทางถึงซาอุดีอาระเบีย สหรัฐเคยพูดเป็นนัยว่า อาจมีชาติอาหรับเดินหน้าปรับสัมพันธ์กับอิสราเอลเพิ่ม จึงชวนให้คิดว่าสหรัฐหมายถึงประเทศใด
ทุกสายตาจับจ้องไปที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียที่ไบเดนเดินทางไปถึง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเคยลั่นวาจาว่าจะปฏิบัติกับประเทศนี้ในฐานะ “รัฐนอกคอก” กรณีการฆ่าหั่นศพ จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2561
แม้มีสัญญาณการปรับสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดีอาระเบีย แต่นักวิเคราะห์ กล่าวว่า รัฐบาลริยาดไม่น่าจะตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ระหว่างการมาเยือนของไบเดน หรือขณะที่กษัตริย์ซัลมาน พระชนมพรรษา 86 พรรษา ยังทรงครองราชย์ นโยบายทางการของพระองค์คือ ไม่ควรมีสันติภาพกับอิสราเอลจนกว่าจะถอนตัวจากเขตยึดครอง และยอมรับรัฐปาเลสไตน์
การเยือนของไบเดนจึงน่าจะโฟกัสแค่ชักชวนประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่สุดของโลก ให้เพิ่มผลผลิตน้ำมัน
สำนักข่าวเอเอฟพี รวบรวมความเป็นไปได้ของการทำข้อตกลงปรับความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอลไว้ดังนี้
อะไรคือสัญญาณ
สื่อทางการรายงานในเดือนมี.ค. อ้างถ้อยแถลงที่มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองซาอุดีอาระเบีย โดยพฤตินัยทรงให้สัมภาษณ์กับดิ แอตแลนติก ว่า อิสราเอลมีโอกาสเป็น "พันธมิตร" เพราะมีผลประโยชน์หลายอย่างที่สามารถทำร่วมกัน"
นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบีย ยังไม่คัดค้านเมื่อพันธมิตรในภูมิภาคอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลในปี 2563 ตามด้วยบาห์เรน และโมร็อกโก ภายใต้ข้อตกลงอับราฮัมที่สหรัฐเป็นตัวกลางเจรจา
เดือนม.ค.2564 รัฐบาลเปลี่ยนผ่านของซูดานเห็นชอบทำแบบเดียวกัน แต่ยังไม่สรุปข้อตกลง
ในเวลานั้นซาอุดีอาระเบีย ยังอนุญาตให้เที่ยวบินตรงจากยูเออีไปอิสราเอลผ่านน่านฟ้าของตนได้ ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณการยอมรับอย่างชัดเจน
สำหรับไบเดน ที่จะไปลงเมืองเจดดาห์ ริมทะเลแดง บินตรงจากอิสราเอลมาซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่บินจากอิสราเอลมาชาติอาหรับที่ยังไม่ยอมรับอิสราเอล ซึ่งในปี 2560 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยเดินทางแบบนี้แต่สวนทางกัน
ท่าทีของซาอุดีอาระเบีย ที่เห็นได้ชัดว่าเปิดกว้างต่ออิสราเอลก่อนไบเดนเดินทางมาถึงในวันนี้ (15 ก.ค.) คือการประกาศยกเลิกข้อจำกัดใช้น่านฟ้าของ “เครื่องบินทุกลำ” มีผลทันทีต่อข้อจำกัดเครื่องบินเดินทางเข้าออกอิสราเอล
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาชาวซาอุดีอาระเบีย บางคนใช้โซเชียลมีเดียที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด แสดงการสนับสนุนให้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งจะเปลี่ยนนโยบายที่อาหรับทั้งหมดใช้มายาวนานในการโดดเดี่ยวอิสราเอล จนกว่าความขัดแย้งกับชาวปาเลสไตน์จะได้รับการแก้ไข
อีซาวี เฟรจ รัฐมนตรีความร่วมมือในภูมิภาคของอิสราเอล กล่าวกับหนังสือพิมพ์อาหรับ นิวส์ ของซาอุดีอาระเบีย ในเดือนมิ.ย.ว่า รัฐบาลริยาดจะเป็น “ศูนย์กลาง” การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
เว็บไซต์ข่าว Axios รายงานในเดือนเดียวกันว่า สหรัฐกำลังทำ “โรดแมป” สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับซาอุดีอาระเบีย ด้านวอลล์สตรีท เจอร์นัล กล่าวว่า สองประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในภูมิภาคนี้กำลังเจรจาลับด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง
ผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ
ยัสมิน ฟารุก จากมูลนิธิคาร์เนกี เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความสัมพันธ์กับอิสราเอลจะมีส่วนช่วยให้ซาอุดีอาระเบียได้รับการยอมรับมากขึ้น
“มันจะเป็นประตูเปิดกว้างสำหรับมกุฎราชกุมาร เมื่อประชาชน และรัฐสภาตะวันตกยอมรับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และยอมรับบทบาทที่ยิ่งใหญ่ขึ้นของซาอุดีอาระเบีย” ฟารุก กล่าวและว่า สิ่งนี้จะช่วยหนุนวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ในฐานะมหาอำนาจโลก “ไม่ใช่แค่มหาอำนาจอาหรับหรือโลกอิสลาม”
ในส่วนของอิสราเอลต้องการปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติ “เพราะไม่ใช่แค่จะเปิดประตูสู่ซาอุดีอาระเบีย แต่ยังไปสู่ประเทศอาหรับ และมุสลิมอื่นๆ ที่อาจหารือลับๆ กับอิสราเอลไปแล้ว แต่ยังไม่กล้าเปิดความสัมพันธ์ในระดับปกติ” ฟารุก กล่าว
นักการทูตในกรุงริยาด รายหนึ่งกล่าวโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่า อิสราเอลกับซาอุดีอาระเบียมีศัตรูร่วมกันคืออิหร่าน
“พวกเขารู้สึกเหมือนกันว่า ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เอเอฟพี ติดต่อทางการซาอุดีอาระเบีย ได้รับการปฏิเสธให้ความเห็นเนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว
เวลาเหมาะสมหรือไม่
แดน ชาปิโร ทูตสหรัฐประจำอิสราเอล สมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา คาดว่า การเดินทางเยือนของไบเดนจะสร้าง “ความคืบหน้าสำคัญบางอย่าง” ให้ซาอุดีอาระเบีย ยอมรับอิสราเอลทางการทูต “อาจไม่ใช่การปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติเต็มตัว แต่เป็นแผนแม่บทนำไปสู่ทิศทางนั้น”
ขณะที่ฟารุก มองว่า การทำตามแผนแม่บทอย่างแท้จริง “เป็นเรื่องยากหากกษัตริย์ซัลมานยังทรงมีพระชนม์ชีพ”
ด้านคริสเตียน อัลริคเซน จากสถาบันเบเกอร์ มหาวิทยาลัยไรซ์ ในสหรัฐ ระบุ “คำว่าความสัมพันธ์ระดับปกติจะถูกใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้น อาจเป็นความสัมพันธ์บางรูปแบบแต่ไปไกลเท่ากับยูเออี และบาห์เรน ผมยังสงสัยอยู่นิดหน่อย”อัลริคเซน กล่าวและว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ได้เป็นกษัตริย์เท่านั้น
“ในระหว่างนี้ เรามีแนวโน้มที่จะเห็นความต่อเนื่องของแนวทางปรับสัมพันธ์ในปัจจุบันกับแนวคิดที่ว่าซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอลไม่ใช่ศัตรู แต่มีผลประโยชน์ในระดับภูมิภาค และภูมิศาสตร์การเมืองบางอย่างร่วมกัน”อัลริคเซน สรุป
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์