ศาลโลกเดินหน้าพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์‘โรฮิงญา’ในเมียนมาเต็มรูปแบบ
ศาลโลก ตัดสินให้เดินหน้าพิจารณาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในเมียนมาอย่างเต็มรูปแบบ ถือเป็นการปัดข้อโต้แย้งของทางการเมียนมาที่ระบุว่าแกมเบียไม่มีฐานะยื่นฟ้องเพื่อเอาผิดรัฐบาลทหารเมียนมาในคดีนี้
ทั้งนี้ เมียนมา ซึ่งปัจจุบันปกครองโดยรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจในปี 2564 โต้แย้งว่าแกมเบียที่ยื่นฟ้องคดีนี้ ไม่มีฐานะที่จะยื่นฟ้องเพื่อเอาผิดในคดีนี้ต่อรัฐบาลทหารเมียนมาต่อศาลสูงสุดของสหประชาชาติ หรือที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ)
แต่ประธานผู้พิพากษา กล่าวว่า ทุกรัฐที่ได้ลงนามในอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 สามารถและต้องดำเนินการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และศาลก็มีขอบเขตอำนาจในคดีนี้
“แกมเบียสามารถดำเนินการได้ในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ประธานผู้พิพากษาอ่านข้อสรุปการพิจารณาตัดสินของคณะผู้พิพากษา 13 คน
จากนี้ไป ศาลจะดำเนินการพิจารณาพื้นฐานของข้อเท็จจริงของคดี ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานหลายปี
แกมเบียได้ยื่นฟ้องเรื่องโรฮิงญาในปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม ที่ประกอบด้วยสมาชิก 57 ประเทศ มีจุดมุ่งหมายให้เมียนมารับผิดชอบและป้องกันการนองเลือดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การเคลื่อนไหวในเรื่องของของแกมเบีย มีขึ้นหลังจากนายอาบูบาคาร์ ตัมบาดู อดีตรัฐมนตรียุติธรรมแกมเบียและอดีตอัยการศาลคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ได้เยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศและกล่าวว่าเรื่องราวที่เขาได้ยินรื้อฟื้นความทรงจำของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
ที่ผ่านมา คณะค้นหาข้อเท็จจริงของยูเอ็นสรุปว่า การปราบปรามของทหารพม่าในปี 2560 ที่ขับไล่โรฮิงญา 730,000 คน ไปยังบังกลาเทศครอบคลุมถึงการกระทำที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยปฏิเสธข้อค้นพบของยูเอ็นว่า ลำเอียงและมีข้อบกพร่อง พร้อมทั้งกล่าวว่าการปราบปรามของรัฐบาลทหารมุ่งเป้าที่กลุ่มกบฎโรฮิงญาที่เคยก่อเหตุโจมตี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำตัดสินของศาลในกรุงเฮกจะมีผลผูกพันและโดยปกติแล้วประเทศต่างๆ จะปฏิบัติตามคำตัดสิน แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้คำคัดสินดังกล่าว