งานวิจัยใหม่ชี้ โควิตลาดอู่ฮั่นอาจเป็นต้นกำเนิดไวรัสโควิด-19

งานวิจัยใหม่ชี้ โควิตลาดอู่ฮั่นอาจเป็นต้นกำเนิดไวรัสโควิด-19

งานวิจัยสองชิ้นที่เพิ่งเผยแพร่ใช้วิธีการศึกษาต่างกันแต่ได้ผลสรุปตรงกันว่า มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่่ตลาดซีฟู้ดหัวหนานเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19

งานวิจัยสองชิ้นที่ขณะนี้อยู่ระหว่างให้เพื่อนร่วมวงการทบทวน และตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันอังคาร (26 ก.ค.) ชิ้นแรก นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกใช้แผนที่และรายงานทางโซเชียลมีเดียวิเคราะห์พื้นที่และสภาพแวดล้อม พบว่า แม้สถานการณ์ยังไม่ชัดเจน เป็นไปได้ว่าไวรัสอยู่ในสัตว์มีชีวิตที่ขายกันในตลาดเมื่อปลายปี 2562 สัตว์เหล่านี้ถูกขังใกล้ชิดกันและอาจแพร่เชื้อโรคกันได้ง่าย แต่การศึกษาไม่ได้ระบุว่าสัตว์ชนิดใดที่อาจป่วย

นักวิจัยสรุปว่า การติดเชื้อโควิด-19 รายแรกๆ สุดคือพ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่ขายสัตว์มีชีวิตหรือคนที่มาจับจ่ายที่นี่ เชื่อว่ามีไวรัสสองชนิดแพร่อยู่ในหมู่สัตว์จากนั้นกระจายไปสู่คน

งานชิ้นที่ 2 ศึกษาจากโมเลกุล ดูว่าการติดเชื้อโควิดข้ามจากสัตว์สู่มนุษย์ครั้งแรกเมื่อใด ผลวิจัยพบว่าโควิดเวอร์ชันแรกสุดอาจมาจากไวรัสสองสายพันธุ์แตกต่างกันที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าสายพันธุ์เอและสายพันธุ์บี ทั้งสองสายพันธุ์เป็นผลจากการติดต่อข้ามสายพันธุ์สู่มนุษย์อย่างน้อยสองครั้ง

นักวิจัยชี้ว่า การติดต่อจากสัตว์สู่คนครั้งแรกอาจเกิดขึ้นราววันที่ 18 พ.ย.2562 มาจากสายพันธุ์บี นักวิจัยพบสายพันธุ์บีเฉพาะในคนที่ติดต่อกับตลาดหัวหนานโดยตรงเท่านั้น

ส่วนสายพันธุ์เอ นักวิจัยเชื่อว่า ติดต่อจากสัตว์สู่คนภายในไม่กี่สัปดาห์หรือเพียงไม่กี่วันหลังการติดเชื้อสายพันธุ์บี ซึ่งสายพันธุ์เอพบในตัวอย่างของคนที่ใช้ชีวิตหรือพักอยู่ใกล้ตลาด

“ข้อค้นพบเหล่านี้ชี้ว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ SARS-CoV-2 แพร่ในคนเป็นวงกว้างก่อนเดือน พ.ย.2562 และกำหนดกรอบเวลาที่แคบลงระหว่างที่ SARS-CoV-2 เข้าสู่คนครั้งแรกกับเวลาที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกซึ่งก็เหมือนกับไวรัสโคโรนาตัวอื่นๆ การเกิดขึ้นของSARS-CoV-2 น่าจะเป็นผลจากโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนหลายครั้ง” รายงานระบุ

เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดใหญ่ในอนาคต คณะนักวิจัยหวังว่าพวกเขาจะสามารถชี้ชัดได้ว่าสัตว์ชนิดใดติดเชื้อครั้งแรกและติดได้อย่างไร

คริสเตียน แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ สาขาวิทยาศาสตร์ระดบโมเลกุลทางจุลชีววิทยาสถาบันวิจัยสคริปปส์ กล่าวว่า แม้เราไม่สามารถป้องกันการปะทุขึ้นของโรคได้ แต่ความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกอาจเป็นกุญแจสำคัญในการจำแนกความแตกต่างระหว่างโรคที่ส่งผลเพียงเล็กน้อยกับโรคที่คร่าชีวิตประชาชนได้นับล้านๆ คน 

คำถามใหญ่ที่เราจำเป็นต้องถามตัวเองคือ คราวหน้าถ้าเกิดขึ้นอีกเพราะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ เราจะตรวจพบการระบาดตั้งแต่เนิ่นๆ และป้องกันไม่ให้กลายเป็นการระบาดใหญ่ได้อย่างไร” แอนเดอร์สันย้ำ