สถานทูตอินเดียชวนเที่ยว ‘เทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ’ ครั้งที่ 2
เมื่อพูดถึงอินเดีย คนไทยหลายคนต้องนึกถึงเดลี มุมไบ ชัยปุระ หรือสายพุทธศาสนาก็ต้องเมืองอันเป็นที่ตั้งสังเวชนียสถาน แต่ถ้าเป็นอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือบางคนอาจนึกไม่ออก ทั้งๆ ที่ภูมิภาคนี้ของอินเดียใกล้ชิดกับไทยอย่างคาดไม่ถึง
รัฐบาลอินเดีย กระทรวงพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดงานเทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ(North-East India Festival) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30-31 ก.ค. เวลา 14.00-22.00 น. ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมสองประเทศทั้งดนตรี อาหาร แฟชั่นโชว์ ศิลปะ นิทรรศการ ถือเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศอินเดียและประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน
ชยัมคานุ มหันทา หัวหน้าคณะทำงานเทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ห่างไกล เชื่อมโยงกับอินเดียส่วนอื่นๆ ด้วยพื้นที่เป็นแถบแคบๆ ระยะทาง 22 กิโลเมตร ผู้คนหน้าตาคล้ายชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“พื้นที่แถบนี้ไม่เป็นที่รู้จักเท่าปัญจาบและมุมไบ เราพยายามทำให้ผู้คนเข้าใจอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น จึงเริ่มจัดเทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือที่เดลีในปี 2556” มหันทาเล่าความเป็นมาจากความต้องการให้คนอินเดียด้วยกันรู้จักพื้นที่นี้ ภายในงานมีการนำเสนอวัฒนธรรม อาหาร งานฝีมือ แฟชั่น งานได้รับความนิยมอย่างมาก ครั้นถึงปี 2560-2561 สถานเอกอัครราชทูตไทยในเดลีมาร่วมงานด้วย และแนะนำให้มาจัดงานที่กรุงเทพฯ
“ทำไมต้องเป็นกรุงเทพฯ ก็เพราะประวัติศาสตร์เราเชื่อมโยงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายชุมชนและชนเผ่าในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มต้นการเดินทางที่ไทยและพรมแดนจีนบริเวณใกล้เคียง เมื่อคุณได้ชมงานคุณจะได้เห็นความคล้ายคลึงระหว่างเรากับคนไทย” มหินทากล่าวพร้อมเสริมว่า การจัดงานเทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือที่กรุงเทพฯ ยังสอดคล้องกับนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่ต้องการเชื่อมโยงอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือเข้ากับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือที่กรุงเทพฯ จัดขึ้นครั้งแรกในเดือน ก.พ. 2562 ด้วยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย หลังจากนั้นนักท่องเที่ยวไทยเริ่มเข้าไปท่องเที่ยวในแถบนี้
"อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือมีชนเผ่าไทหลายเผ่า ใหญ่สุดเรียกว่า ไทอาหม อยู่ในรัฐอัสสัมราวหกร้อยปีมาแล้ว ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเชื่อมต่อกับไทยมาก งานนี้จึงเน้นความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือกับไทย" มหินทากล่าวต่อและว่า ปี 2563-2564 งดจัดงานเพราะโควิด-19 ระบาด แต่ปีนี้ครบรอบ 75 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินเดียกับไทยจึงถือเป็นโอกาสดีที่จะจัดเทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากประสบความสำเร็จล้นหลามในการจัดงานครั้งแรก
โมเทน คอนยาค ตัวแทนจากนาคาแลนด์ เสริมว่า อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือมีอาหารที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ภายในงานจะมีซุ้มอาหารของแต่ละรัฐที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง รัฐหนึ่งมีไม่น้อยกว่าหกเมนูมาให้คนไทยได้ลองชิม
ด้านสุจิตรา ดูไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวว่า อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจัดงานในประเทศไทยถือเป็นการจัดครั้งแรกนอกอินเดีย และปีนี้จัดใหญ่ขึ้นกว่าครั้งแรก เห็นได้จากผู้นำของภูมิภาคล้วนมาร่วมงานนำโดย ดร.ราชกุมาร รันจัน ซิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงมุขมนตรีรัฐเมฆาลัย มุขมนตรีรัฐนาคาแลนด์ ผู้ช่วยมุขมนตรีรัฐอรุณาจัลประเทศ รัฐมนตรีรัฐอัสสัม รัฐมนตรีรัฐมิโซรัม และบุคคลสำคัญจากภาครัฐและเอกชน
“อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพมหาศาล ทรัพยากรมากมาย พื้นที่ยังบริสุทธิ์ สวยงามมากๆ เหมาะกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ชอบการผจญภัย อีเวนต์นี้จึงเป็นการนำเสนอวัฒนธรรมแบบร่วมสมัยให้เห็นอินเดียในมุมที่ต่างออกไปจากที่คุ้นเคยเรื่องศาสนาเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ทุกรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือยังมีสินค้าเกษตรโดดเด่น ซึ่งไทยเก่งมากด้านเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร แพ็กเกจจิง การท่องเที่ยวและบริการ เราก็มาเรียนรู้จากไทย ขณะเดียวกันบริษัทไทยก็สามารถไปลงทุนภาคเกษตรและประมงได้” ท่านทูตอินเดียกล่าวโดยสรุปถึงโอกาสสำหรับนักลงทุน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเอกสาร “มหัศจรรย์อินเดีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประตูสู่ดินแดนตะวันออก สวรรค์ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ” ระบุว่า อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วย รัฐอรุณาจัลประเทศ รัฐอัสสัม รัฐมณีปุระ รัฐเมฆาลัย รัฐมิโซรัม รัฐนาคาแลนด์ รัฐสิกขิม และรัฐตรีปุระ พื้นที่รวม 265,000 ตารางกิโลเมตร ระบบนิเวศและวิถีชีวิตผู้คนขึ้นอยู่กับแม่น้ำสายหลักได้แก่ แม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำบาราค ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ทว่าดินแดนแห่งนี้ไม่ได้ห่างไกลความเจริญมากนัก