จับตาบทบาทอาเซียนประเด็นร้อน'ระดับโลก-ภูมิภาค'

จับตาบทบาทอาเซียนประเด็นร้อน'ระดับโลก-ภูมิภาค'

ปีนี้ อาเซียนครบรอบปีที่ 55 โดยเฉพาะการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) ซึ่งจะมีในสัปดาห์หน้า กำลังเผชิญความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยสถานการณ์ร้อนแรงระดับภูมิภาค อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน และคำสั่งประหาร 4 นักโทษการเมืองต่อต้านรัฐประหารเมียนมา

“กวี จงกิจถาวร” นักวิชาการอาวุโส จากสถาบันการศึกษาความมั่นคง และนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในแนวทางการทูตของประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนต่างรู้ดีว่ามีมุมมองต่อสงครามยูเครนแตกต่างกันออกไป แม้มีความเห็นที่หลากหลาย แต่ที่ผ่านมาอาเซียนสามารถออกแถลงการณ์ต่อเรื่องดังกล่าวได้ถึง 3 ฉบับ เพื่อย้ำถึงจุดยืนร่วมกันในภูมิภาค

ขณะที่สงครามยูเครนล่วงเลยเข้าสู่เดือนที่ 6 อาเซียนกำลังเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที เจรจาอย่างสันติ ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการทารุณกรรมในยูเครน รวมทั้งอาเซียนแสดงความเป็นกลางเพื่ออำนวยความสะดวกต่อความพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นโดยเร็ว 

ยิ่งสงครามยืดเยื้อออกไป ผลกระทบย่อมขยายออกไปมากขึ้น ทางกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนปี 2565 ได้เชิญรัสเซียเข้าร่วมการประชุมในกรอบอาเซียน-รัสเซีย รวมถึงการประชุมสำคัญๆ อย่างการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) หวังใช้เวทีนี้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีฮุน เซนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน และดูเหมือนจะออกตัวแรงสุดในบรรดา 3 ประเทศได้แก่ ลาว เวียดนาม และกัมพูชาที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต ปัจจุบันกัมพูชา พึ่งพารัสเซียน้อยลงอย่างมาก หลังจากการลงนามข้อตกลงสันติภาพปารีสในปี 2534 ทำให้จุดยืนของกัมพูชาภายใต้ฮุนเซน ผู้นำประเทศยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษมีความสอดคล้องกับชาติตะวันตกมากขึ้น 

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทยออกแถลงการณ์ร่วมจัดประชุมใหญ่ระดับภูมิภาคและระดับโลก 3 เวทีที่จะมีขึ้นในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ต่อเนื่องกันไปในเดือน พ.ย.2565  เป็นสิ่งตอกย้ำว่า ทั้งสามประเทศรู้ดีว่า ชาติตะวันตกกำลังนำความขัดแย้งของชาติยุโรปเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะต้องการแรงสนับสนุนจากอาเซียน

“เนื้อหาตอนหนึ่งในแถลงการณ์ร่วมระบุว่า กระบวนการในการประชุมอาเซียน  G20   และเอเปคคล้ายคลึงกัน ซึ่งสร้างโอกาสพิเศษแก่ประเทศ/เศรษฐกิจที่เข้าร่วมเพื่อร่วมกันพัฒนาวาระระดับโลกและระดับภูมิภาค รวมถึงความพยายามในการนำสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมมาสู่ประชาชนของเราทุกคน หรือพูดสั้นๆว่า โปรดอย่าเขย่าเรือ เพื่อให้อาเซียนทำหน้าที่ของตนเอง เพื่อส่งเสริมการเจรจาความร่วมมือ และสันติภาพ” กวีระบุ 
 

อาเซียนหวังให้สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะสิ้นสุดลงก่อนการประชุมอาเซียนซัมมิตในปลายปีนี้ ดังนั้นระหว่างนี้ยังพอมีเวลาสำหรับการเจรจาและสร้างความปรองดอง แม้ปัจจุบันยังไม่มีวี่แววให้เห็นก็ตาม แต่ทั้งอินโดนีเซียและไทยต้องการเห็นผู้แทนทางการทูตของรัสเซีย เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ G20 และรัฐมนตรีการค้าเอเปคปี 2565 แต่ถ้าหากสงครามยังคงดำเนินต่อไป การประชุมสุดยอดอาเซียน สุดยอด G20 และสุดยอดเอเปคก็เหมือนถูกจับเป็นตัวประกันที่อยู่ตรงกลางความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกและรัสเซีย  

ขณะที่สถานการณ์ในภูมิภาค อย่างวิกฤตการณ์ในเมียนมากำลังถึงจุดสำคัญ เพราะถ้าในอีก 5 เดือนข้างหน้า เมียนมาไม่สามารถบรรลุสิ่งที่เรียกว่า “ความก้าวหน้าที่สำคัญ” ในฉันทามติ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง 2.ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ 3.ให้มีทูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา 4.อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ 5.ทูตพิเศษเข้าไปเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย ก็อาจจะหมดหวังในการทำให้เมียนมากลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวอาเซียนเหมือนเดิม ถึงอย่างไร รัฐบาลทหารเมียนมายังพอมีโอกาสอยู่บ้าง เนื่องจากทูตพิเศษจะมีแผนกลับไปเยือนเมียนมาครั้งที่ 3 ในเดือน ก.ย.นี้

กวีกล่าวทิ้งท้ายว่า กัมพูชาประธานอาเซียนพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวิกฤตการณ์เมียนมาได้เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ แต่ในมุมการเมืองช่างโหดร้ายและเดินเกมเร็ว  จนถึงขณะนี้ไม่มีใครผ่อนแรงหรือยอมแพ้เพื่อเริ่มต้นเจรจา ทุกฝ่ายยังคงต่อสู้ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารมีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก เพียงเพราะพวกเขาอาจคิดผิดว่าสามารถชนะสงครามครั้งนี้ได้ นี่เป็นสิ่งที่อาเซียนต้องหยุดการใช้ความรุนแรงในเมียนมา และคืนความสันติโดยเร็ว