ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 315 จุดหลังก.พาณิชย์เผยเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบกว่า 40 ปี
ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดวันศุกร์(29ก.ค.)ปรับตัวเพิ่มขึ้น 315 จุด โดยการซื้อขายค่อนข้างผันผวนในแดนบวกและแดนลบ หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพิ่งเปิดเผยมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 315.50 จุดหรือเกือบ 1% ปิดที่ 32,845.13 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 1.4% ปิดที่ 4,130.29 จุด และดัชนีแนสแด็กเพิ่มขึ้น 1.9% ปิดที่ 12,390.69 จุด
การซื้อขายได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของอเมซอนและแอ๊ปเปิ้ล ซึ่งเป็นหุ้นใหญ่ของตลาดทั้งคู่ โดยอเมซอนเปิดเผยรายได้พุ่งขึ้น 7% ในไตรมาส 2/2565 แตะที่ระดับ 1.2123 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.1909 แสนล้านดอลลาร์
ขณะที่แอ๊ปเปิ้ลระบุว่ารายได้ในไตรมาส 3 ของปีงบการเงิน 2565 เพิ่มขึ้น 2% สู่ระดับ 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 8.281 หมื่นล้านดอลลาร์
ราคาหุ้นอเมซอนพุ่งขึ้นถึง 10.82% ส่วนหุ้นแอ๊ปเปิ้ลปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.18%
ขณะเดียวกัน หุ้นเอ็กซอนโมบิลปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.28% หลังเผยกำไร Q2/65 ทุบสถิติใหม่ รับราคาพลังงานแพง ส่วนหุ้นเชฟรอนปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.64% หลังเผยกำไร Q2/65 ทำสถิติใหม่ รับอานิสงส์พลังงานแพงเช่นกัน
ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามความคาดหมาย และแม้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% หลังจากเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจีดีพีหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1
การที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย "ทางเทคนิค" โดยเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ตลาดคาดหวังว่า การหดตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้เฟดชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี การซื้อขายได้รับแรงกดดันหลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนมิ.ย. ทำสถิติเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 40 ปีนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2525
เมื่อเทียบเป็นรายเดือนแล้ว ดัชนี PCE ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2524
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ