ดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 332 จุดเก็งเฟดผ่อนคันเร่งขึ้นดบ.หลังจีดีพีหดตัว
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(28ก.ค.)ปรับตัวเพิ่มขึ้น 332 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ในวันนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 332.04 จุด หรือ 1.03% ปิดที่ 32,529.63 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี500 เพิ่มขึ้น 48.82 จุด หรือ 1.21% ปิดที่ 4,072.43 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 130.17 จุด หรือ 1.08% ปิดที่ 12,162.59 จุด
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทแอ๊ปเปิ้ล, อเมซอน และอินเทล หลังจากปิดตลาดวันนี้
ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดวานนี้พุ่งขึ้นกว่า 400 จุด ขานรับการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามความคาดหมาย ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะลดความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุดในช่วงแรกวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังสหรัฐเปิดเผยเศรษฐกิจหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันแต่ ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดีพุ่งขึ้น 332 จุด จากมุมมองเชิงบวกที่ว่า การหดตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้เฟดชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ในวันนี้ โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% หลังจากเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจีดีพีหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1
การที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย "ทางเทคนิค" โดยเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีที่แตกต่างกัน โดยเจพีมอร์แกนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 2 ขณะที่โกลด์แมน แซคส์คาดว่าขยายตัว 1% แต่มูดี้ส์ อนาลิติกส์ คาดว่าเศรษฐกิจหดตัว 1%
ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.2% ในไตรมาส 2
อย่างไรก็ดี ในการแถลงข่าวหลังการประชุมนโยบายการเงินของเฟดวานนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันว่า เขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงาน
ที่ผ่านมา สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ถือเป็นหน่วยงานที่จะตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอย่างเป็นทางการ