อียูเจอปัญหา'คลื่นความร้อน-ภัยแล้ง' ฉุดปริมาณอาหารทั่วยุโรป

อียูเจอปัญหา'คลื่นความร้อน-ภัยแล้ง' ฉุดปริมาณอาหารทั่วยุโรป

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า คลื่นความร้อนระลอกที่ 3 และภัยแล้งจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงกำลังส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตรของบรรดาประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป (อียู)ที่ถือเป็นแหล่งผลิตขนมปังของโลก และปัญหานี้ถือเป็นการซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

 เมื่อวันพุธ (3 ส.ค.) คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เรียกร้องให้บรรดาชาติสมาชิกนำน้ำเสียไปบำบัด และนำกลับมาใช้ใหม่ในฟาร์มที่เผชิญปัญหาแห้งแล้ง หลังจากฝรั่งเศส และพื้นที่บางส่วนของอังกฤษเจอปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในเดือนก.ค.

"เมทิโอ-ฟรองซ์" นักอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศส ระบุว่า ปัญหาภัยแล้งในฝรั่งเศสส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทำให้ต้องจำกัดการใช้น้ำเป็นวงกว้าง โดยเดือนที่แล้วปริมาณฝนที่ตกลงมามีเพียง 9.7 มิลลิเมตร

เกษตรกรทั่วประเทศ รายงานว่า การเลี้ยงปศุสัตว์มีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากทุ่งหญ้าแห้งแล้ง และชลประทานถูกระงับในพื้นที่ขนาดใหญ่ทางตะวันเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากขาดแคลนน้ำจืด

"โชโร ดัสกุปตะ" นักเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมประจำศูนย์วิจัยสภาพอากาศ ยูโร-เมดิเตอร์เรเนียน ให้ความเห็นว่า ปริมาณอาหารเริ่มลดลงมานานแล้ว จากปัญหาอุปทานอาหารยูเครนที่ลดลง ประกอบกับคลื่นความร้อนก็เป็นปัญหาหลักของภัยแล้ง ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อด้านราคาอาหารสำหรับผู้บริโภคและกระทบต่อบรรดาผู้ผลิต

“ความแห้งแล้ง และคลื่นความร้อนกระทบการดำรงชีวิตของประชาชน ผู้คนเข้าถึงอาหารได้น้อยลง ขณะที่ช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนทำให้ผู้คนทำงานกลางแจ้งได้น้อยลง ส่งผลกระทบไปถึงห่วงโซ่อุปทาน” ดัสกุปตะ กล่าว

ด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยาอังกฤษ ระบุว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศเผชิญภัยแล้งมากที่สุดในเดือนก.ค. ทำให้ระบบชลประทานบางแห่งจำกัดการใช้น้ำจึงส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านคน  

 ขณะที่บรรดาเกษตรกรที่ปลูกผัก และผลไม้รายงานว่า เก็บเกี่ยวผลผลิตหลายประเภทได้ลดลง เช่น ถั่วและเบอร์รี่ ขณะที่อังกฤษกำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปีจากราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น

 ส่วนในสเปน สัปดาห์นี้หลายพื้นที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำและผลผลิตทางการเกษตรลดลง ประกอบกับพื้นที่ต่างๆ ในหลายภูมิภาคจำกัดการใช้น้ำ

  สเปน เป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มที่สำคัญของยุโรป และสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้ในปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของน้ำมันปาล์มโลก แต่พื้นที่ปลูกปาล์มลดลง  ประกอบกับระบบชลประทานมีจำกัดส่งผลให้เก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มได้ไม่ถึง 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์