วัดดวงลูกค้า‘เซลเซียส’โอดครวญขอเงินคืน

วัดดวงลูกค้า‘เซลเซียส’โอดครวญขอเงินคืน

ข่าวคราวบริษัท เซลเซียส เน็ตเวิร์ก (Celsius Network) ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มปล่อยกู้คริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ที่สุดในโลกยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลาย หลังจากบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะผันผวนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นข่าวสะเทือนวงการคริปโทฯ โดยเฉพาะลูกค้าที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตเงินของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป

ชายชาวไอริชที่กำลังเสี่ยงสูญเสียฟาร์ม ชาวอเมริกันคิดจะฆ่าตัวตาย หญิงหม้ายวัย 84 ปีสูญเสียเงินเก็บมาทั้งชีวิต คนเหล่านี้เสียหายจากผู้ให้กู้คริปโทฯ “เซลเซียส” และกำลังวิงวอนขอเงินคืน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า จดหมายหลายร้อยฉบับหลั่งไหลไปหาผู้พิพากษาดูแลคดีล้มละลายหลายพันล้านของเซลเซียส ข้อความเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยว อับอาย สิ้นหวัง และมักจะเสียใจ

“ฉันรู้ว่ามีความเสี่ยง ดูเหมือนเป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่า” ลูกค้าคนหนึ่งโอดครวญในจดหมายไม่ลงนาม

เซลเซียสและอเล็กซ์ มาชินสกี ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เคยเรียกแพลตฟอร์มนี้ว่า เป็นที่ปลอดภัยให้ประชาชนนำคริปโทเคอร์เรนซีมาฝากไว้แลกกับดอกเบี้ยสูง ให้บริษัทยืมคริปโทฯ ดังกล่าวไปลงทุนต่อ แต่เมื่อมูลค่าคริปโทฯ ที่ผันผวนสูงมากดิ่งหนัก เฉพาะบิตคอยน์มูลค่าหายไปกว่า 60% ตั้งแต่เดือน พ.ย. เซลเซียสเจอปัญหาทับถมจนกระทั่งสั่งระงับถอนเงินเมื่อกลางเดือน มิ.ย.

เอกสารที่ยื่นต่อศาลเมื่อหลายวันก่อนในเดือนนี้ ระบุ เซลเซียสเป็นหนี้ผู้ใช้ 4.7 พันล้านดอลลาร์ ส่วนจุดจบยังไม่ทราบแน่ชัด

จดหมายร้องเรียนที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ศาลมาจากทั่วโลก พรรณาถึงผลลัพธ์อันน่าเศร้าใจเมื่อเงินของผู้ใช้ถูกอายัด

“จากคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้ทำงานหนักในเท็กซัส ดิ้นรนหาเงินชำระหนี้ ไปจนถึงครูในอินเดียที่นำเงินจากการทำงานหนักทั้งหมดมาฝากไว้ที่เซลเซียส ฉันเชื่อว่าฉันสามารถพูดแทนพวกเราส่วนใหญ่ได้ เมื่อฉันบอกว่ารู้สึกถูกทรยศ ละอายใจ ซึมเศร้า โกรธเกรี้ยว” จดหมายฉบับหนึ่งลงนามในจดหมายว่าอี แอล ว่าไว้

แม้เนื้อความในจดหมายแตกต่างกันไปตามระดับความซับซ้อนเกี่ยวกับโลกของคริปโทฯ ตั้งแต่ผู้ที่สารภาพว่าเป็นมือใหม่หัดเล่น ไปจนถึงนักบวชอีแวนเจลิสต์ผู้ทุ่มสุดตัว และความเสียหายทางการเงินก็หลากหลายตั้งแต่หลักไม่กี่ร้อยดอลลาร์ไปจนถึงเลขเจ็ดหลัก เกือบทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันในเรื่องหนึ่ง

“ผมเป็นลูกค้าที่ภักดีกับเซลเซียสมาตั้งแต่ปี 2562 และรู้สึกว่าอเล็กซ์ มาชินสกี โกหกล้วนๆ เขาเคยพูดถึงเซลเซียสว่าปลอดภัยกว่าธนาคาร” จดหมายจากลูกค้ารายหนึ่งที่เอเอฟพีไม่เปิดเผยตัวตนเพื่อความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าว

จดหมายหลายฉบับชี้ถึงบทสนทนาออนไลน์ของซีอีโอที่เรียกว่า “ถามมาชินสกีได้ทุกเรื่อง” เป็นปัจจัยสำคัญทำให้พวกเขามั่นใจในตัวซีอีโอรายนี้และแพลตฟอร์มเซลเซียส ที่นำเสนอตนเองว่ามีเสถียรภาพจนกระทั่งไม่กี่วันก่อนอายัดเงินผู้ใช้

รับประกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนล้มละลาย

“เซลเซียสมีทีมจัดการความเสี่ยงดีที่สุดทีมหนึ่งของโลก ทีมรักษาความปลอดภัยและโครงสร้างของเราไม่เป็นสองรองใคร เรานำพาบริษัทฝ่าขาลงของคริปโทฯ มาก่อน (นี่คือเดือนที่ 4 ของเรา!) เซลเซียสเตรียมการไว้แล้ว” บริษัทเขียนไว้เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ทั้งยังบอกด้วยว่า เซลเซียสสำรองเงินไว้จ่ายตามความรับผิดชอบ การถอนเงินทำได้ตามปกติ

ลูกค้ารายหนึ่งที่คริปโทฯ ถูกเซลเซียสอายัดไว้ 32,000 ดอลลาร์ กล่าวถึงความเสียหายต่อผู้พิพากษาว่า “นักลงทุนรายย่อยได้รับคำรับรองมาตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ” แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

วันที่ 12 มิ.ย. เซลเซียสประกาศอายัดเงินฝาก “เราดำเนินการเช่นนี้ในวันนี้ก็เพื่อให้เซลเซียสมีสถานะดีขึ้นในการปฏิบัติตามพันธกรณีการถอนเงินอย่างที่มีมาโดยตลอด” เซลเซียสให้เหตุผล ซึ่งลูกค้าบางคนทราบข่าวนี้จากข้อความที่บริษัทส่งมา

“ทันทีที่อ่านอีเมลจบ ผมทรุดลงไปกองกับพื้นมือกุมขมับร้องโฮออกมา” ชายคนหนึ่งผู้มีสินทรัพย์ในเซลเซียสราว 50,000 ดอลลาร์เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง

กลุ่มลูกค้าที่บอกว่าพวกตนเสียหายหนักสุดมีชายคนหนึ่งที่นำเงินสินเชื่อจากรัฐบาล 525,000 ดอลลาร์ฝากไว้ที่เซลเซียส พวกเขามองว่านั่นคือการฆ่าตัวเองชัดๆ

คนอื่นๆ เครียดหนัก นอนไม่หลับ และรู้สึกอับอายสุดๆ ที่เอาเงินออมยามเกษียณหรือเงินให้ลูกเรียนหนังสือไปไว้กับเซลเซียสที่เสี่ยงยิ่งกว่าที่พวกเขารู้

“ในฐานะบริษัทเอกชนที่ไม่มีการควบคุม เซลเซียสไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดสำหรับการเปิดโปงใดๆ เลย” หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์สรุปสถานการณ์

ด้านเซลเซียสไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับจดหมายของลูกค้าแต่สำหรับคนอย่างผู้หญิงวัย 84 ปี ที่มีเพียงเงินออมราว 30,000 ดอลลาร์ในคริปโทฯ เก็บไว้ในเซลเซียสเป็นเวลาหนึ่งเดือน ความหวังของพวกเขาอยู่ที่กระบวนการล้มละลาย

“เป็นเรื่องธรรมดาที่จะไม่ได้อะไรกลับมา แน่นอนผมเสียใจกับทุกคนที่สูญเงินไปกับการลงทุนแบบนี้ แต่นี่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องตระหนักในเรื่องความเสี่ยง” ดอน คอเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคารให้ความเห็นทิ้งท้าย