ราคาน้ำมันดิบร่วง 2.08 ดอลล์หลังอิหร่านใกล้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์
ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าตลาดสหรัฐปิดวันศุกร์(12ส.ค.)ปรับตัวร่วงลง 2.08 ดอลลาร์ หลังอิหร่านส่งสัญญาณใกล้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจ ซึ่งจะปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนก.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ ลบ 2.08 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ราคา 92.26 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ร่วง 1.47 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ราคา 98.13 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอ ของทางการอิหร่าน รายงานโดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่อิหร่านระบุว่า อิหร่านพร้อมยอมรับข้อเสนอจากสหภาพยุโรป (อียู) ในการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 หากข้อเสนอดังกล่าวสามารถให้การค้ำประกันข้อเรียกร้องของอิหร่าน
เจ้าหน้าที่อิหร่านเปิดเผยว่า รัฐบาลอิหร่านกำลังพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งหากสามารถสร้างความมั่นใจต่ออิหร่านในประเด็นการคว่ำบาตร การปกป้อง และการค้ำประกัน อิหร่านก็พร้อมยอมรับข้อเสนอดังกล่าว
ทั้งนี้ อิหร่านต้องการให้มีการรับรองว่าผู้ที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในอนาคตจะไม่สามารถยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ หากอิหร่านและรัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันให้การยอมรับข้อตกลงดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยจากการที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2561 และมีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน
เจ้าหน้าที่อียูได้เสร็จสิ้นการจัดทำร่างข้อเสนอฉบับสุดท้ายในการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ และได้ส่งร่างข้อเสนอดังกล่าวให้กับทางสหรัฐและอิหร่านแล้ว โดยคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะทำการตัดสินใจครั้งสุดท้ายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอ รายงานก่อนหน้านี้ว่า อิหร่านและชาติมหาอำนาจสามารถบรรลุข้อตกลงบางส่วนในการเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558
ทั้งนี้ การเจรจาดังกล่าวได้เริ่มขึ้นในเดือนเม.ย.2564 ที่กรุงเวียนนา แต่ได้ถูกระงับไปในเดือนมี.ค.2565 ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน แต่การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายได้เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้ที่กรุงเวียนนา ซึ่งหากอิหร่านและชาติตะวันตกสามารถบรรลุข้อตกลง ก็จะปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกรายงานปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมันในปีนี้
ทั้งนี้ โอเปกคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.1% ในปีนี้ โดยลดลงจากระดับ 3.5% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ในเดือนพ.ค.
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความเสี่ยงจาก
- ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์
- ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน
- การแพร่ระบาดของโควิด-19
- เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
- หนี้สาธารณะในหลายประเทศ
- การคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางจากสหรัฐ อังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ โอเปกยังได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกสู่ระดับ 100 ล้านบาร์เรล/วัน จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 100.3 ล้านบาร์เรล/วัน โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้