เงินเฟ้ออังกฤษเดือนก.ค.พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี เหตุค่าอาหาร-พลังงานพุ่ง
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เงินเฟ้ออังกฤษแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีอีกครั้งในเดือนก.ค. โดยค่าอาหารและค่าพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลให้วิกฤตค่าครองชีพทวีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์
สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (โอเอ็นเอส) เปิดเผยในวันพุธ (17 ส.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษ พุ่งขึ้น 10.1% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2525 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 9.4% ในเดือนมิ.ย. และสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในการสำรวจของรอยเตอร์ที่ 9.8%
เมื่อเทียบเป็นรายเดือน CPI ของเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 0.9% จาก 0.8% ในเดือนมิ.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.6% แต่ยังคงไม่สูงมากเท่าเดือนเม.ย.ที่ CPI เพิ่มขึ้นถึง 2.5% จากเดือนมี.ค.
โอเอ็นเอส ระบุในรายงานว่า ราคาอาหารที่ปรับตัวขึ้นเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดสำหรับอัตราเงินเฟ้อรายปีระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ค.
ทั้งนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 6 ครั้งเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยเมื่อต้นเดือนนี้ บีโออี ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากที่สุดในรอบ 27 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2538 ที่ 0.50% สู่ระดับ 1.75% พร้อมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566 หรือ 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน