‘เวียดนาม’ฐานผลิตทางเลือกของแอ๊ปเปิ้ล

‘เวียดนาม’ฐานผลิตทางเลือกของแอ๊ปเปิ้ล

แอ๊ปเปิ้ล อิงค์ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐ อยู่ระหว่างเจรจาเรื่องการผลิตแอ๊ปเปิ้ล วอตช์ และแมคบุ๊ก ในเวียดนามเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นชัยชนะสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ หลังแอ๊ปเปิ้ลวางแผนสร้างความหลากหลายให้กับฐานการผลิต เพื่อลดการพึ่งพาจีน

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลแหล่งข่าวว่า ลักซ์แชร์ พรีซิชัน อินดัสทรีย์ และฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของแอ๊ปเปิ้ล เริ่มทดสอบการผลิตแอ๊ปเปิ้ล วอทช์ และแมคบุ๊กในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนามแล้ว โดยตั้งเป้าผลิตอุปกรณ์ประเภทดังกล่าวนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก

ที่ผ่านมา แอ๊ปเปิ้ลได้โยกย้ายฐานการผลิตไอโฟนจากจีนไปยังตลาดอื่น ๆ รวมถึง อินเดีย ซึ่งเริ่มผลิตไอโฟน 13 ในปีนี้ พร้อมทั้งวางแผนประกอบแท็บเล็ตไอแพดด้วย

อินเดีย ซึ่งเป็นตลาดสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก พร้อมด้วยประเทศต่าง ๆ เช่น เม็กซิโกและเวียดนาม มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อบริษัทรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์อเมริกัน เนื่องจากแบรนด์เหล่านี้พยายามสร้างความหลากหลายด้านฐานการผลิต เพื่อลดการพึ่งพาจีน

อย่างไรก็ตาม แอ๊ปเปิ้ล ฟ็อกคอนน์ และลักซ์แชร์ พรีซิชันยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวนี้

การเคลื่อนไหวของแอ๊ปเปิ้ลในเวียดนามมีขึ้นหลังจากบริษัทสั่งพนักงานกลับเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วัน เริ่มมีผลบังคับใช้ 5 ก.ย.นี้ หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทา

เว็บไซต์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานเมื่อวันจันทร์ (15 ส.ค.) ว่า แอ๊ปเปิ้ล กำหนดเส้นตายในวันที่ 5 ก.ย.นี้ ให้พนักงานของบริษัท กลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และภายใต้แผนการใหม่นี้ แอ๊ปเปิ้ลจะให้พนักงานเข้าทำงานที่ออฟฟิศในวันอังคาร และวันพฤหัสบดี และอีก 1 วันตามที่แต่ละทีมจะตกลงกัน

ความเคลื่อนไหวนี้ของแอ๊ปเปิ้ลเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า แอ๊ปเปิ้ลยังคงมุ่งมั่นต่อการทำงานแบบพบปะเจอหน้ากัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของแอ๊ปเปิ้ลที่จะให้น้ำหนักอย่างมากกับการประชุม และการสาธิตแบบพบหน้ากัน รวมถึงการพัฒนา และขายฮาร์ดแวร์ ซึ่งจำเป็นที่พนักงานจะต้องอยู่ด้วย
 

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า แอ๊ปเปิ้ลวางแผนที่จะชะลอการจ้างงานและชะลอการใช้จ่ายในบางหน่วยงานในปีหน้า เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

แผนนี้สะท้อนให้เห็นว่าแอ๊ปเปิ้ล ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลกปรับตัวตามบริษัทอื่น ๆ ของสหรัฐที่กำลังชะลอการจ้างงานในขณะนี้ ซึ่งรวมถึงบริษัทเมตา แพล็ตฟอร์ม และเทสลา อิงค์และข่าวนี้ฉุดให้ราคาหุ้นของแอ๊ปเปิ้ล ปิดตลาดร่วงลงกว่า 2% และเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐพลิกกลับมาเคลื่อนไหวในแดนลบในช่วงท้ายตลาดก่อนที่จะปิดร่วงลงกว่า 200 จุดในวันจันทร์ (18 ก.ค.)

“คิม ฟอร์เรสต์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการลงทุนจากบริษัทโบเกห์ แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส ในเมืองพิทส์เบิร์กของสหรัฐให้ความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของแอ๊ปเปิ้ลสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทเอกชนกำลังชะลอการลงทุนเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสิ่งใหม่ บริษัทใหม่ และผลิตภัณฑ์ใหม่

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีความวิตกกังวลมากขึ้นว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อยังทำให้เกิดความกังวลว่าผู้บริโภคอาจจะควบคุมการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สมาร์ทโฟน

ข้อมูลจากคานาลิส บริษัทวิจัยด้านการตลาด ระบุว่า ยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกปรับตัวลง 9% ในไตรมาส 2 โดยผลิตภัณฑ์ไอโฟนของแอ๊ปเปิ้ลยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอันดับสองของโลกที่ 17% รองจากบริษัทซัมซุง ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในโลก

ขณะที่เวียดนามมีความพร้อมอย่างมากในการเป็นฐานการผลิตเทียบเท่าจีน และในช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โรงงานผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในประเทศเวียดนาม ได้ส่งมอบสมาร์ทโฟนให้กับเสี่ยวหมี่ โดยการผลิตสมาร์ทโฟนในเวียดนามจะเป็นรุ่นที่เน้นขายในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก

เสี่ยวหมี่ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังจากจีน ได้รับการส่งมอบสมาร์ทโฟนชุดแรกจาก DBG Holdings เป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายธุรกิจไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการลดปัญหาห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจสมาร์ทโฟนที่เกิดขึ้นในจีนด้วย

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เสี่ยวหมี่ มีต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลให้เสี่ยวหมี่ เลือกหาทำเลทองสำหรับการผลิตสมาร์ทโฟน ก่อนที่จะลงตัวในเวียดนาม ซึ่งทำให้ต้นทุนของเสี่ยวหมี่ลดลงและอยู่ในสถานะที่ควบคุมได้ง่ายขึ้น