เปิดโลกภาพยนตร์เคนยากับทูตลินด์เซย์ คิปติเนส
ภาพยนตร์จากประเทศเคนยาใช่ว่าจะหาชมกันได้ง่ายๆ แต่สัปดาห์นี้ RCB Film Club จะจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Subira (ซูบิรา) ลินด์เซย์ คิปติเนส เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเคนยาประจำประเทศไทย จะเป็นผู้กล่าวแนะนำภาพยนตร์ด้วยตนเอง World Pulse จึงถือโอกาสคุยกับทูตเพื่อเป็นการนำร่องให้ผู้อ่านชาวไทยรู้จักประเทศนี้มากขึ้น
ทำไมต้องเป็น Subira
เริ่มต้นด้วยเหตุผลที่สถานทูตเลือกฉายเรื่อง Subira ทูตกล่าวว่า ประการแรกภาพยนตร์สะท้อนความกลมกลืนทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนาในเคนยา ผ่านตัวละครหลักของเรื่อง ทั้งยังฉายภาพความงามของหมู่เกาะ ความสดใสของเมืองผ่านเกาะลามู และกรุงไนโรบี
"อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของวัฒนธรรมเคนยาและอัตลักษณ์ของชาติ
การจัดฉายหนังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ ทั้งยังเพื่อแสดงให้เห็นว่า เคนยาเป็นแหล่งถ่ายทำภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ดังหลายเรื่องที่ถ่ายทำที่นั่น เช่น ‘Sheena’ Queen of the Jungle; ‘Out of Africa’; ‘The Tomb Raider, ‘Cry Freedom’, ‘Born Free, Inception, ‘The Ghost and the Darkness’, รวมถึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดอื่นๆ
ทั้งยังเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับชีวิตในเคนยาและแอฟริกา อันเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษยชาติ และเพื่อโปรโมทเคนยาในฐานะแหล่งท่องเที่ยวอันยอดเยี่ยม เป็นเบ้าหลอมวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนา เป็นประเทศที่มีความอดทนอดกลั้นและเสรีภาพ
สิทธิของผู้หญิงในเคนยา
ซูบิรา ภาพยนตร์ปี 2561 ผลงานการกำกับของ เรฟนีท ซิปปี้ ชฎา บอกเล่าเรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่ถูกกำหนดชะตาชีวิตโดยครอบครัวอนุรักษนิยม ก่อให้เกิดคำถามถึงสิทธิสตรีของเคนยาในปัจจุบัน
“ผมบอกได้เลยว่ายอดเยี่ยมมากครับ รัฐธรรมนูญเคนยา ปี 2553 มาตรา 59 (2บี) ส่งเสริมความเสมอภาคและเท่าเทียมทางเพศ อันที่จริงเพราะการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองและการตัดสินใจเชิงนโยบายที่มุ่งมั่น เด็กผู้หญิงและผู้หญิงแซงหน้าเด็กผู้ชายและผู้ชายไปแล้วในแง่การศึกษาและการเป็นผู้นำทางการเมือง” ทูตคิปติเนสกล่าวและว่า หลังจากส่งเสริมสิทธิเด็กผู้หญิงและผู้หญิงมานานหลายปี ตอนนี้ในบรรดาผู้ว่าราชการจังหวัด 47 คนที่เพิ่งเลือกตั้ง เป็นผู้หญิง 7 คน ส.ส. 290 คนเป็นผู้หญิงกว่า 30 คน ทางการยังจัดสัดส่วนพิเศษให้ ส.ส.หญิงเป็นตัวแทนของ 47 เขต กองกำลังป้องกันประเทศมีผู้หญิงมุสลิมเป็นนายพลหนึ่งนาย ภาคเอกชนก็มีผู้หญิงนั่งในตำแหน่งสำคัญมากมาย
แม้ประเด็นปัญหาที่ปรากฏในภาพยนตร์ไม่ได้แก้ไขเสร็จสมบูรณ์เสียทีเดียว แต่ทูตยืนยันว่า สิทธิสตรีเคนยาก้าวหน้าไปมาก เห็นได้จากการที่ผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับสูงในภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคเอกชน
“สถาบันผู้อาวุโสและสถาบันศาสนาเองก็มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ปกครองละทิ้งวัฒนธรรมล้าหลังปิดกั้นเด็กผู้หญิงไม่ให้ใช้ความสามารถของพวกเธออย่างเต็มที่”
ศักยภาพภาพยนตร์เคนยา
สำหรับตัวทูตเผยว่า เป็นคนชอบดูภาพยนตร์ที่ชอบมากคือแนวแอคชั่นและนิยายทั้งหลาย อุตสาหกรรมภาพยนตร์เคนยาขณะนี้กำลังโตวันโตคืนเพราะมีคนเก่งมากๆ
"การฉายหนังอย่าง ‘Subira’ และ‘Shuga’ คือประจักษ์พยานของการเติบโตนี้ เคนยามีศักยภาพจากทิวทัศน์ในฝันชวนตะลึงในการถ่ายทำภาพยนตร์ นักแสดงชายหญิงมากความสามารถ" อย่างไรก็ตาม
ยังมีงานให้ต้องทำอีกมากในการนำเสนอภาพยนตร์เคนยาและยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์
"ตอนนี้เรามีริเวอร์วูดของเราไปแข่งกับฮอลลีวูดของสหรัฐ บอลลีวูดของอินเดีย และนอลลีวูดของไนจีเรีย ความท้าทายใหญ่สุดคือเงินทุนที่จะมาลงทุน ความท้าทายอื่นๆ เช่น ขีดความสามารถในการฝึกอบรมความคิดสร้างสรรค์, การรับรู้ของคนที่มองว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีไว้เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว, กฎระเบียบบางข้อเนื่องจากธรรมเนียม/วัฒนธรรมและการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงผู้คนจำนวนมากขึ้นๆ อยากดูหนังบนโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือโฮมเธียเตอร์แทนที่จะมาโรงหนัง"
ปัจจุบันสหรัฐ สหราชอาณาจักร ฟิลิปปินส์ และไนจีเรีย เป็นผู้จัดหาภาพยนตร์รายใหญ่ให้เคนยา ซึ่งทางเคนยาอยากขยายตลาดมาสู่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนโดยรวมเช่นกัน
ความสำคัญอุตสาหกรรมภาพยนตร์
ทูตย้ำถึงความสำคัญของภาคส่วนนี้ว่า การผลิตภาพยนตร์เหมือนกับภาคการท่องเที่ยว ที่สามารถมีส่วนร่วมสร้างรายได้ให้ครอบครัวและจีดีพีของประเทศ จึงจำเป็นต้องลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี ตอนนี้รัฐบาลกำลังกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งจากผู้สร้างท้องถิ่นและต่างชาติ
“ประเทศเรามีภูมิประเทศน่าตื่นตาตื่นใจ เหมาะกับการถ่ายทำภาพยนตร์มากๆ ผมจึงอยากเชิญผู้สร้างจากไทยลองไปถ่ายทำที่เคนยาดูครับ แล้วจะไม่ผิดหวังเลย”
และเพื่อความเข้าใจกันมากขึ้นสถานทูตเคนยาด้วยความร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรมอย่างริเวอร์ซิตี้แบงค็อก กระทรวงวัฒนธรรม และผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ วางแผนทำวีดิโอคลิปและเขียนบทความเรื่องศิลปะอาหารเคนยากับนิตยสารไทย เมื่อสายการบินเคนยาแอร์เวย์กลับมาบินสู่ภูมิภาคนี้ สถานทูตวางแผนนำนักระบำพื้นเมืองเคนยามาแสดงที่ไทย ปัจจุบันเคนยามีศูนย์วัฒนธรรมในจ. เชียงใหม่ที่แสดงถึงชีวิตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแก่เด็กนักเรียนและผู้มาเยือน
ส่วนคนที่อยากรู้จักเคนยาให้มากกว่านี้ ต้องไม่พลาดชมภาพยนตร์ Subira ในวันเสาร์ที่27 ส.ค.2565 เวลา16.00น. ที่ RCB Forum ชั้น 2 ริเวอร์ซิตี้แบงค็อก หลังภาพยนตร์มีงานเลี้ยงที่ทูตจะพูดคุยกับผู้ชมอย่างเป็นกันเอง ถือเป็นอีกหนึ่งงานวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน
ตัวอย่างภาพยนตร์: https://www.youtube.com/watch?v=eXewf-WhRwg
ช่องทางการจองบัตรชมภาพยนตร์: https://www.ticketmelon.com/rivercitybangkok/rcbfilmkenya
ติดต่อสอบถาม: http://[email protected]