เฟดหนุนขึ้นดอกเบี้ยฉุดสกุลเงินเอเชียอ่อนค่า

เฟดหนุนขึ้นดอกเบี้ยฉุดสกุลเงินเอเชียอ่อนค่า

สกุลเงินของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวานนี้ (29ส.ค.) หลัง“เจอโรม พาวเวล ”ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ย้ำว่า เฟดจะยังคงเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

พาวเวล กล่าวในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮลเมื่อวันศุกร์ (26 ส.ค.) ว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฟดจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐ

นอกจากนี้ พาวเวล ยังกล่าวว่า เฟดยังคงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และเฟดจะไม่ตัดทางเลือกในการ “ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่มากกว่าปกติ” ในเดือนก.ย.

ข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า ในช่วงเช้าวานนี้ (29 ส.ค.)ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 1% เมื่อเทียบกับเงินวอน ที่ระดับ 1,349.6 วอน ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2552 
 

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 138.53 เยน, แข็งค่า 0.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สิงคโปร์ ที่ระดับ 1.3988 ดอลลาร์สิงคโปร์ และแข็งค่า 0.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลีย ที่ระดับ 0.6863 ดอลลาร์ออสเตรเลีย

นักวิเคราะห์จากธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (เอ็มยูเอฟจี) เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า พาวเวลส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้นจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

นักวิเคราะห์มองว่า ความเห็นของพาวเวลบ่งชี้ว่าแม้เฟดมีแนวโน้มที่จะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังสิ้นเดือนธ.ค.ปีนี้ แต่คาดว่าเฟดจะตรึงดอกเบี้ยต่อไปอีกประมาณ 6 เดือน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจต้องเลื่อนออกไปอีก
 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของเอ็มยูเอฟจี คาดว่าตลอดทั้งวันนี้ สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียจะถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อันเนื่องมาจากการส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของพาวเวล

นอกจากค่าเงินเอเชียจะอ่อนค่าลงแล้ว ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ใช้เวลาในการแถลงแค่ 8 นาที ก็ทุบตลาดหุ้นสหรัฐให้ดิ่งลงอย่างหนักและส่งผลให้เศรษฐีอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดสูญเงินไปถึง 7.8 หมื่นล้านดอลลาร์

ดัชนีมหาเศรษฐีพันล้านบลูมเบิร์ก บ่งชี้ว่า ความมั่งคั่งของเจฟฟ์ เบซอส ประธานบริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทอเมซอนดอทคอม หายไปมากที่สุดถึง 6.8 พันล้านดอลลาร์ และความมั่งคั่งของอีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทเทสลา หายไป 5.5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ความมั่งคั่งของบิล เกตส์และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ลดลง 2.2 พันล้านดอลลาร์และ 2.7 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ ส่วนความมั่งคั่งของเซอร์เกย์ บริน ผู้ถือหุ้นใหญ่ของอัลฟาเบทร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์

ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทรุดตัวลง 3.4% โดยร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย. ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก ดิ่งลงมากกว่า 4% หลังจากหุ้นไมโครซอฟท์, อเมซอนดอทคอม, เทสลา และอัลฟาเบท ร่วงลงตามกัน

อย่างไรก็ตาม เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครตแสดงความรู้สึกวิตกกังวลว่าเฟด จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีความเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนต้องตกงาน

“คุณทราบไหมว่าอะไรที่เลวร้ายกว่าสินค้าราคาแพงและภาวะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง? คำตอบคือ สินค้าราคาแพง แต่ประชาชนหลายล้านคนต้องตกงานยังไงล่ะ ดิฉันวิตกกังวลมากว่าเฟดจะนำพาเศรษฐกิจประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย” วอร์เรน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในวันอาทิตย์ (28 ส.ค.)

วอร์เรน กล่าวว่า “ความหมายของพาวเวลคือประชาชนต้องตกงาน และธุรกิจรายย่อยต้องปิดตัวลง เพราะอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินเพิ่มสูงขึ้น"

มุมมองทางเศรษฐกิจของวอร์เรนมักมีอิทธิพลในกลุ่มสมาชิกพรรคเดโมแครตหัวก้าวหน้า

วอร์เรนกล่าวด้วยว่า ปัญหาเงินเฟ้อสูงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

"พาวเวลยอมรับขณะแถลงต่อสภาคองเกรสว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเครื่องมือนโยบายการเงินของเขาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยตรง” วอร์เรน กล่าว