เผยภาพความเสียหายจากพายุเฮอริเคน'เอียน'ถล่มฟลอริดา
เผยภาพความเสียหายจากพายุเฮอริเคนเอียนพัดถล่มบ้านเรือนพังราบ ประชาชน 2.7 ล้านคน ไม่มีไฟฟ้าใช้ โรงพยาบาลต้องอพยพผู้ป่วยกว่า 1,000 คน และพายุเอียนได้ทวีความแรงลมจนกลับไปสู่ระดับเฮอริเคนอีกครั้ง และมุ่งหน้าสู่รัฐเซาท์แคโรไลนา
พายุเฮอริเคนเอียน ที่พัดถล่มเมืองฟอร์ทไมเออร์ส รัฐฟลอริดาของสหรัฐ ทำให้บ้านเรือนพังราบ เรือหลายลำถูกซัดขึ้นไปอยู่บนบกและไฟไหม้ พื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งอาคารและบ้านเรือน กลายเป็นที่โล่งกับซากปรักหักพัง
"รอน เดแซนติส" ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา เผยว่ากำแพงน้ำที่ซัดเข้ามาแบบเดียวกับสึนามิ รุนแรงที่สุดในรอบ 500 ปี ประชาชน 2.7 ล้านคน ไม่มีไฟฟ้าใช้ และกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ 50 ลำ ไปค้นหาผู้รอดชีวิต รวมทั้งช่วยผู้ประสบภัยที่สูญหายหรือติดอยู่ตามบ้านเรือนอีกหลายพันคน หลังเผชิญความแรงลมเกือบ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ยืนยันผู้เสียชีวิตแล้ว 15 คน ส่วนตัวเลขที่แท้จริงยังไม่สามารถยืนยันได้ในขณะนี้
"ลี เฮลธ์" ซึ่งเป็นระบบโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในเทศมณฑลลี ของรัฐฟลอริดาของสหรัฐ ต้องอพยพผู้ป่วย 1,000 คน หลังความรุนแรงของเฮอริเคนเอียน ทำให้การจ่ายน้ำประปาขัดข้องและยังไม่ชัดเจนว่าจะกลับมาใช้งานได้เมื่อใด
"แมรี เมย์ฮิว" ประธานและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) ของสมาคมโรงพยาบาลฟลอริดา เปิดเผยว่า มีทีมเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปช่วยโอนย้ายผู้ป่วย เนื่องจากโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหาย ตอนที่เผชิญความรุนแรงระดับ 4 เมื่อวันพุธ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อม ที่รวมทั้งเครื่องปั่นไฟและเชื้อเพลิง ทำให้ไม่วิตกเรื่องไฟฟ้าแต่ปัญหาคือน้ำประปาไม่ไหล ขณะที่โรงพยาบาลก็ต้องเตรียมรับมือกับผู้ที่บาดเจ็บจากพายุด้วย
ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐ รายงานว่า พายุเอียนได้ทวีความแรงลมจนกลับไปสู่ระดับเฮอริเคนอีกครั้ง ขณะเคลื่อนผ่านชายฝั่งด้านแอตแลนติกของรัฐฟลอริดา และมุ่งหน้าสู่รัฐเซาท์แคโรไลนาด้วยกำลังลมสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากการคาดการณ์เส้นทางพายุเฮอริเคนเอียนจะพัดเข้าสู่ชายฝั่งรัฐเซาท์แคโรไลนาในวันนี้ และที่พายุทวีความรุนแรงขึ้นคาดว่าเป็นเพราะพัดผ่านกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม แต่เชื่อว่าความรุนแรงจะอยู่ที่ระดับ 1 และทำให้เกิดสตอร์มเซิร์จสูงระหว่าง 4-7 ฟุต
ขณะที่เทศมณฑลชาร์ลสตันของรัฐเซาท์แคโรไลนา ที่มีประชากร 413,000 คน ประกาศภาวะฉุกเฉิน เป็นการเตรียมพร้อมรับมือ โดยใช้ชื่อปฏิบัติการรับมือเฮอริเคนว่า "ออปคอร์น วัน" (OPCON 1) เพื่อรับมือสถานการณ์ที่รวมถึงน้ำท่วม