เปิด 3 ประเทศ แขกพิเศษ “นายกฯประยุทธ์” ในช่วง APEC SUMMIT 2022
แหล่งข่าวใกล้ชิดทำเนียบรัฐบาล เผย ปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC SUMMIT 2022) เชิญผู้นำ 3 ประเทศเป็นแขกพิเศษ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงเอเปค สะท้อนความร่วมมือมีพลวัต และความสำคัญบทบาทไทย
ในการจัดเวทีให้ผู้นำเอเปคได้ปรึกษาหารือไม่เพียงแต่ประเด็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล ตามธีมหลักที่ว่า "OPEN. CONNECT. BALANCE." แต่ยังเป็นเวทีคิดหาแนวทางออกและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่าง ราคาพลังงาน ขาดแคลนอาหาร ซัพพลายเชน เงินเฟ้อ ซึ่งเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวนอยู่เดิม ในระหว่างที่ทั่วโลกพยายามเศรษฐกิจ หลังเผชิญการระบาดใหญ่
"ประธานาธิบดีฝรั่งเศส" ตอกย้ำระบบพหุภาคี
ก่อนหน้านี้ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ต.ค.) ว่า เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะเป็นแขกพิเศษของนายกฯ ประยุทธ์ ในระหว่างเอเปค ซัมมิท ด้วย และเมื่อหยิบเรื่องนี้พูดคุยกับ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะเคยดำรงเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส มองว่า
"มาครงเห็นความสำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอยากมาแสดงวิสัยทัศน์ มาครงเน้นความสำคัญของระบบพหุภาคี และการเคารพกติการะหว่างประเทศ โดยที่มาครง ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ “เป็นอิสระ” จากมหาอำนาจอื่นๆ และพยายามผลักดันให้อียูมีแนวทางการดำเนินต่อสถานการณ์ระดับภูมิภาคอย่างมีเอกภาพ ตามความต้องการ และประโยชน์ของประชาชนในภูมิภาคเป็นหลัก
“มาครง มองหาแนวทางเพื่อสันติภาพ พยายามแสดงบทบาทอำนวยความสะดวกให้มีการหารือ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าฝรั่งเศส เข้าข้างรัสเซีย แต่เห็นความจำเป็นในการเข้าสู่กระบวนการหาทางแก้ไขความขัดแย้ง เปลี่ยนจากเส้นทางสงครามสู่เส้นทางสันติภาพ” ทูตสีหศักดิ์ กล่าว
“ซาอุฯ” ปรึกษาหารือปัญหาพลังงาน
แหล่งข่าววงในการจัดประชุมเอเปค ซัมมิท ระบุว่า เวทีเอเปค ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจได้หารือถึงปัญหาพลังงานที่สะสม และหนักขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยประเด็นนี้กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน และการดำเนินธุรกิจในทุกระดับ ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศผู้นำการส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกมาเป็นแขกพิเศษของนายกฯ ประยุทธ์ และได้ปรากฏตัวในระหว่างการประชุมเอเปค ซัมมิท จะเป็นทั้งเชิงสัญลักษณ์ และรูปธรรมเพื่อให้ปัญหาด้านพลังงานได้รับการดูแล
มีรายงานว่า ในระหว่างที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปร่วมประชุมยูเอ็น ได้พบปะกับเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่สำนักงานคณะผู้แทนถาวรซาอุฯ ประจำนครนิวยอร์ก ในการพิจารณาขั้นตอนสุดท้าย เพื่อเตรียมการเยือนของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุฯ
แหล่งข่าวระบุว่า การเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งนี้ มกุฎราชกุมารซาอุฯ หรือ ที่รู้จักกันในพระนามย่อ MBS จะมีคณะผู้ติดตามมาเป็นจำนวนมากถึง 800 คน ทำให้ต้องเหมาโรงแรมถึง 3 แห่ง และนับเป็นการต่อยอดหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม ตามคำเชิญของ MBS โดยเป็นการเยือนระดับผู้นำของ 2 ประเทศครั้งแรกในรอบ 32 ปี เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ ทั้งทางการทูต การต่างประเทศ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและแรงงาน
นับเป็นความก้าวหน้าในความพยายามของฝ่ายไทย มายาวนาน ที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯ
“กัมพูชา” บทบาทประธานอาเซียน
รัฐบาลไทยได้เชิญสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นแขกพิเศษของนายกฯ ประยุทธ์ จะเป็นการตอกย้ำความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะภูมิภาคที่มีโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แม้ว่ากัมพูชา จะไม่อยู่ในสมาชิกเอเปค แต่ในปีนี้กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน จะเป็นโอกาสที่ได้ร่วมกันแสดงบทบาท และดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก
อย่างไรก็ตาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตสูงทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดใหญ่ โดยคาดว่า ในปี 2565 จะอยู่ที่ 5.1% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้อยู่ที่ 4.9% ส่วนปี 2566 คาดอยู่ที่ 5.0%
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์