'สี จิ้นผิง' เตรียมย้ำสร้างความมั่นคงของชาติ มากกว่าการเติบโตของศก.จีน
ประธานาธิบดี'สี จิ้นผิง'ของจีน อาจตอกย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายประวัติศาสตร์ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยยกระดับสถานะความมั่นคงของชาติ แม้จะสูญเสียการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม
บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า หัวหน้าพรรคทุกคนนับตั้งแต่นายเจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีนในปี 2545 ได้ใช้การกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปีเพื่อยืนยันว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเป็น "ความสำคัญสูงสุด" ของพรรค แต่ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อาจยกเลิกวลีดังกล่าวเพื่อสนับสนุนสโลแกนที่เรียกร้องให้ "สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและความมั่นคง"
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ปธน.สีเริ่มใช้สโลแกนดังกล่าวบ่อยครั้งในช่วงปี 2563 เพื่อเน้นย้ำถึงการรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ รวมถึงโรคระบาดในอนาคต ขณะที่เขาได้เริ่มเรียกร้องให้ใช้แนวทางแบบบูรณาการด้านความมั่นคงและการพัฒนาตั้งแต่ปี 2557 เขาก็ยังคงกล่าวถึง "การพัฒนาเป็นอันดับแรก" ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกของเขาในการประชุมพรรคเมื่อปี 2560
โฮเวิร์ด หวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายจีนจากแรนด์ คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า การยกเลิกสโลแกนเดิมและมุ่งให้ความสำคัญมากขึ้นกับความมั่นคงนั้นแสดงให้เห็นว่า จีนจะมีความอดทนมากขึ้นต่อความเสี่ยงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอลง
นายหวังระบุเสริมว่า นโยบายล่าสุดของจีน เช่น การเดินหน้าควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) สะท้อนถึงความเต็มใจของจีนที่จะเผชิญกับต้นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อรับประกันด้านความมั่นคง อย่างน้อยที่สุดก็คือ ความมั่นคงทางการเมืองของผู้นำพรรค
วลี "ความสมดุลระหว่างความมั่นคงและการพัฒนา" ถูกระบุไว้ในกฎหมายหลายฉบับนับตั้งแต่ปี 2563 และยังมีการใช้วลีนี้เพิ่มขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับสหรัฐในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในช่วงเดือนท้าย ๆ ของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ
วลีดังกล่าวถูกใช้ทั้งสิ้น 3 ครั้งใน "มติประวัติศาสตร์" ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเอกสารนโยบายสำคัญที่ออกเมื่อเดือนพ.ย.เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษ โดยที่ไม่มีการพูดถึงวลี "การพัฒนามาเป็นอันดับแรก" ซึ่งก็เป็นสัญญาณอีกประการหนึ่งที่บ่งชี้ว่า วลีดังกล่าวอาจถูกตัดออกจากการแถลงสุนทรพจน์ของปธน.สี
ทั้งนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดว่า จีนจะพลาดเป้าหมายของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2565 อย่างมากในปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มตั้งเป้าหมายดังกล่าวในช่วงต้นทศวรรษ 1990 (2533) โดยจีนได้มองข้ามความสำคัญของเป้าหมายในปีนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับการลดความสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงในมติประวัติศาสตร์ของปีที่แล้ว ซึ่งระบุว่าจีดีพีไม่ใช่หลักเกณฑ์เดียวของความสำเร็จ