'ออสเตรเลีย-อินโดฯ'ร่วมมือด้านการทหาร

'ออสเตรเลีย-อินโดฯ'ร่วมมือด้านการทหาร

'ออสเตรเลีย-อินโดฯ'ร่วมมือด้านการทหาร โดยออสเตรเลียพร้อมส่งออกอาวุธให้อินโดนีเซียแม้กองทัพจาการ์ตามีข้อกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมุษยชนในปาปัวตะวันตกมานานหลายปี

ออสเตรเลีย ประกาศความร่วมมือทางทหารครั้งสำคัญกับอินโดนีเซีย ซึ่งประกอบด้วยการฝึกฝนบุคคลากรในกองทัพ ซ้อมรบร่วมและส่งออกอาวุธไปยังอินโดนีเซีย แม้ประเทศนี้ยังคงถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนในปาปัวตะวันตก ทางตะวันออกไกลของประเทศ ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าและทางการมานานหลายสิบปี

กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ยืนยันรายงานข่าวของอัลซาจีราห์ ด้วยการระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้การนำของ "แอนโทนี อัลบานิซี" ที่ชนะเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา อาจส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมกับกองทัพอินโดนีเซียและมีการฝึกทหารร่วมกัน

“อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของออสเตรเลีย เราจึงร่วมฝึกทหาร เสริมศักยภาพของกองทัพและฝึกอบรมด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องตามกฎหมาย และพร้อมส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพอินโดนีเซีย” กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ระบุ
 

ออสเตรเลียมีความสัมพันธ์อันดีด้านการทหารกับอินโดนีเซียมาอย่างยาวนาน รวมถึงการร่วมซ้อมรบและจัดส่งอาวุธให้กัน โดยบริษัท เธลส์ ออสเตรเลียได้ขายรถหุ้มเกราะบุชมาสเตอร์ 3 คัน แก่หน่วยรบพิเศษ Kopassus ของอินโดนีเซียเมื่อปี 2557

หน่วยรบพิเศษนี้จะได้ร่วมซ้อมรบกับหน่วยรบพิเศษกองทัพบกออสเตรเลีย (SAS) ขณะหน่วยปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย 88 หรือรู้จักในนาม เดนซุส 88 ที่ก่อตั้งเมื่อเกิดเหตุระเบิดในบาหลีปี 2545 ซึ่งหน่วยนี้ได้รับทุนและรับการฝึกอบรมจากกองทัพออสเตรเลียและสหรัฐ

ประชาคมโลกมองว่าการซ้อมรบของทั้งสองประเทศ ช่วยลดภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายได้ แต่กองทัพอินโดนีเซียยังคงถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนในปาปัวตะวันตก ที่ชาวพื้นเมืองได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอินโดนีเซียมายาวนานกว่า 50 ปี
 

อินโดนีเซีย เป็นภูมิภาคที่อุดมไปด้วยทรัพยากรมากมายตั้งแต่ช่วงยุค 60 และการเข้าครอบครองปาปัวตะวันตก จุดชนวนทำให้เกิดการถกเถียงกันมาตลอดนับตั้งแต่มีการจัดทำประชามต ภายใต้การดูแลของยูเอ็นในปี 2512

ท่ามกลางการต่อต้านจากนักต่อสู้ชนพื้นเมืองปาปัวอย่างขบวนการปลดแอกปาปัว (โอพีเอ็ม) ที่มีเป้าหมายโจมตีชาวอินโดนีเซีย กองทัพและหน่วยรบพิเศษของอินโดนีเซียที่ส่งมาลงพื้นที่และแม้พื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างสงบสุขในช่วงการปกครองของประธานาธิบดี อับดูร์เราะห์มาน วาฮิด แต่การสู้รบของทหารอินโดนีเซียยังคงเกิดขึ้นในช่วงการปกครองของประธานาธิบดีคนอื่นๆ รวมถึง ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ซึ่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2

แต่เดิมอินโดนีเซียมีแผนสร้างเขตปกครองใหม่ 3 แห่ง ในพื้นที่ที่มีการชุมนุมอย่างสันติเมื่อเดือนมิ.ย. และพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนถูกจับกุมไป 44 คน 

ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมบ่อยครั้งและมากเกินไป แต่รัฐบาลอินโดนีเซีย อ้างว่า ที่ทำไปเพื่อพัฒนาปาปัวและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชาวปาปัวตะวันตก

ส่วน“อุสมาน ฮามิด” กรรมการบริหารองค์การนิรโทษกรรมสากล ให้ความเห็นว่า ชาวปาปัวจะเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร หากความพยายามแสดงความเห็นและการแสดงความปราถนาของพวกเขา ถูกต่อต้านจากภาครัฐด้วยการใช้ความรุนแรง

“อันเดรียส ฮาร์โซโน” นักวิจัยที่เฝ้าติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย ย้ำว่า ในปาปัวตะวันตกมีการวิสามัญฆาตกรรม คนสูญหาย มีการลักพาตัวเด็กชาวปาปัว และมีการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและยึดที่ดินมากมาย

ฮาร์โซโน เรียกร้องไปยังรัฐบาลออสเตรเลียว่า ควรเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้เมื่อร่วมซ้อมรบกับกองทัพอินโดนีเซีย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่รัฐออสเตรเลียกลับปิดตาไม่รับรู้ปัญหา และหวังว่าออสเตรเลีย จะสามารถเปลี่ยนแปลงความร่วมมือทางทหารกับอินโดนีเซีย โดยมุ่งเน้นไปที่การปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ด้าน“เบบนี เวนดา” ผู้นำขบวนการปลดแอกเพื่อรัฐบาลปาปัวตะวันตก ซึ่งถูกเนรเทศ เนื่องจากกล่าวหาว่ากองทัพอินโดนีเซียเป็นกลุ่มก่อการร้าย กล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ขณะอยู่ในสหราชอาณาจักรว่า อินโดนีเซียทำร้ายประชาชนชาวปาปัว และชาวปาปัวไม่เคยสู้รบกับชาวอินโดนีเซียในจาการ์ตาหรือในชวาเลย

อย่างไรก็ดี ในปี 2549 ออสเตรเลียเคยรับผู้อพยพชาวปาปัวตะวันตก 43 คน พร้อมทั้งขู่ว่าจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินโดนีเซีย ส่วนชาวปาปัวทั้ง 43 คนได้รับสถานะลี้ภัยในออสเตรเลีย ท่ามกลางผลกระทบทางการทูตต่อร่างสนธิสัญญาใหม่ระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลีย

ทั้งนี้ สนธิสัญญาลอมบอกคือ ข้อตกลงใหม่ระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ครอบคลุมถึงการให้ความร่วมมือด้านการป้องกัน การบังคับใช้กฎหมาย ต่อต้านการก่อการร้าย สร้างความมั่นคงทางทะเล การจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน สนับสนุนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน รวมถึงอธิปไตยของอินโดนีเซียต่อปาปัวตะวันตก

“คามิเลีย เว็บบ์ แกนนอน” อาจารย์และผู้ประสานงานโครงการปาปัวตะวันตก จากมหาวิทยาลัยวูลลองกอง และเขียนหนังสือ

“Morning Star Rising: The Politics of Decolonization in West Papua” ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า สนธิสัญญาลอมบอกมีไว้เพื่อใช้ ‘ปิดปาก’

“แต่ละฝ่ายไม่สนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในปัญหาท้าทายต่อบูรณภาพแห่งดินแดนหรืออธิปไตยของแต่ละประเทศเลย ที่สำคัญคืออินโดนีเซียพยายามบอกออสเตรเลียว่า ไม่มีสิทธิกล่าวอะไรเกี่ยวกับปาปัวตะวันตกหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีก ” แกนนอน กล่าว