วิเคราะห์ "เศรษฐกิจจีน" ฟื้นตัวจริงไหม ไปทิศทางไหนต่อ?

วิเคราะห์ "เศรษฐกิจจีน" ฟื้นตัวจริงไหม ไปทิศทางไหนต่อ?

หลัง "จีน" ประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ตัวเลข GDP ขยายตัว 3.9% ดีกว่าที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ ซึ่งทางการจีนกำลังสื่อสารกับคนจีนและทั่วโลกเป็นนัยว่า "เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแล้ว" แท้จริงแล้วจะเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่? "อ้ายจง" จะมาวิเคราะห์ให้ได้อ่านกัน

หลังเสร็จสิ้นการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 และการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ ชุดที่ 20 ที่ สี จิ้นผิง ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรค พร้อมกับเลือก 6 ขุนพลกลุ่มผู้นำพรรคฯ เคียงข้าง สี จิ้นผิง คณะกรรมการกรมการเมือง (โปลิตบูโร) และคณะกรรมการคณะสำคัญคณะต่างๆ รวมถึงคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของพรรคฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 และ 23 ตุลาคม 2565) ทางจีนก็ไม่รอช้า ประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาทันที เป็นไปตามที่หลายฝ่ายรวมถึง "อ้ายจง" เอง ที่คาดการณ์ไว้ว่า

สาเหตุที่จีนประกาศเลื่อนประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจประจำไตรมาสที่ 3 โดยไม่มีกำหนด และไม่ได้ชี้แจงถึงเหตุผล เป็นเพราะอยู่ในช่วงเวลาการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ จีนคงไม่ต้องการให้มีข้อมูลกำกวมหรือการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ออกมาในช่วงนั้น คาดว่าหลังการประชุมเสร็จสิ้นจะประกาศออกมา ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ แต่ก็มีเสียงนอกจีน โดยเฉาะอย่างยิ่งจากโลกตะวันตก ดังมาจากแดนไกลว่า "หรือตัวเลข ถ้าเผยแพร่ออกมาตามกำหนดเดิม จะออกมาไม่สวย เหมือนที่จีนตั้งใจไว้" เพราะว่ากันตามตรง ทั่วโลกต่างจับตามอง รวมถึงในประเทศจีนเองด้วยว่า เศรษฐกิจจีน ณ ขณะนี้จะเป็นไปในทิศทางใด จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขยายตัวลดลงต่ำกว่า 1% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวดิ่งลงจากเกือบ 4% ในไตรมาสที่ 1/2565 เหลือเพียง 0.4% เท่านั้น โดย "นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (แบบไดนามิก)" ของจีน ตกเป็นผู้ร้ายหลักของภาวะเศรษฐกิจจีน
 

GDP ขยายตัว 3.9% ในไตรมาสที่ 3 ดีกว่าที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ กลายเป็นคีย์สำคัญที่สื่อจีนและตัวทางการจีนเองกำลังสื่อสารกับคนจีนและทั่วโลกในตอนนี้ นัยว่า "เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแล้ว" แต่ "เศรษฐกิจจีน" ฟื้นตัวจริงหรือไม่? พิจารณาได้จาก 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. GDP ไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัว 3.9% แต่ยังน้อยกว่าของปี 2563 ช่วงเวลาหลังฟื้นตัวจากการระบาดหนักรอบแรก และของปี 2564

ไตรมาสที่ 3/2564 และไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัวแทบจะเท่ากันที่ 4.8% และ 4.9% ตามลำดับ ซึ่งถ้ามองย้อนไปพบว่า ไตรมาสที่ 1/2564 การขยายตัวของ GDP จีน ดีดตัวไปที่ 18.3% ก่อนจะค่อยๆ ตกลงมาเยี่ยงรูดเสา ต่ำกว่า 10% ไปในไตรมาสที่ 2 และเกือบแตะ 5% ในไตรมาส 3 ก่อนจะปิดตัวไตรมาสสุดท้ายของ 2564 ที่ระดับ 4%

หากวิเคราะห์ตามข้อมูลข้างต้นพบว่า แนวโน้มของปี 2564 และ 2565 เริ่มมาทรงเดียวกัน คือต้นปีมาดีและค่อยตกลง โดยช่วงเวลาที่ตกลงก็มาจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของจีนเป็นระลอก จึงไม่น่าแปลกใจถึงสาเหตุที่คนจำนวนมากพุ่งเป้าไปที่ "นโยบายโควิด-19" ของจีน เป็นตัวส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ 

และยังตั้งคำถามต่ออีกว่า "โควิด-19 เป็นศูนย์แบบไดนามิก ที่จีนต้องการสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีจริงหรือ?" ดังนั้น ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 3/2565 ที่ดีกว่าในไตรมาส 2/2565 หากเทียบกับขยายตัวแค่ 0.4% มาเป็น 3.9% ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว หรือกำลังไปในทิศทางที่ดี ตราบใดที่จีนยังไม่สร้างสมดุลระหว่างการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวด กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ  

บทความที่เกี่ยวข้อง

2. ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผู้ประกอบการ ยังรอวันฟื้นฟู (โดยเร็วที่สุด)

24 ตุลาคม 2565 วันเดียวกันกับการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจจีน ประจำไตรมาสที่ 3 โดยสำนักสถิติแห่งชาติจีน มีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างวิจารณ์ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมา 

ตลาดหุ้นฮ่องกง ดัชนีฮั่งเส็ง ตกกว่า 6% ขณะที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ตลาดหุ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ปิดตลาดด้วยการตกลง 2% เช่นกัน สิ่งนี้เป็นเสียงสะท้อนจากนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจจีนภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองและเงื่อนไขเรื่องโควิด-19 ของจีนในปัจจุบัน เพราะต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดย สี จิ้นผิง โดยไร้รายชื่อของ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่มีกระแสจากสื่อตะวันตกว่า เขาคือผู้ที่เข้าใจในการสร้างสมดุลระหว่างโควิด-19 และเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้นำชุดใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มยึดมั่นในโควิดเป็นศูนย์ และเน้นการสร้างเสถียรภาพของตัวผู้นำจีนและแกนกลางพรรคฯ เป็นหลัก

แต่ในความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ขออนุญาตมองอีกมุมคือ การที่ สี จิ้นผิง รายล้อมไปด้วยบุคคลใกล้ชิด ที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนเป็นเวลานาน หากดำเนินการบนทางที่ถูกต้อง ก็จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อันนี้อ้ายจงขอย้ำว่า หากเป็นไปในทางที่ถูกต้องนะ

ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน ถึงการเลือกกลุ่มผู้นำพรรคฯ ที่มาทำงานร่วมกับ สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการใหญ่ในคำรบที่ 3 (และเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ด้วย) คือการพยายามของสี จิ้นผิง และจีน ที่จะเร่งดำเนินการแก้ไขในสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่ เรียกความมั่นใจให้กลับคืนมา ไม่ใช่แค่ในกลุ่มผู้ประกอบการ แต่รวมไปถึงคนในชาติ และพรรคฯ 

"เพราะถ้ากลุ่มผู้นำยังไม่เป็นเอกภาพ และทำงานกันอย่างไม่ราบรื่น ไม่สามารถ Implement แนวคิดของเขาซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดได้ ผลลัพธ์ก็คงไม่เป็นไปตามเป้าที่ต้องการ" นี่อาจเป็นสิ่งที่ทาง สี จิ้นผิง คิด

สี จิ้นผิง รู้ดีว่าทั่วโลกต่างจับจ้องมองเขา และมองหนักกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ และเขาเองก็เน้นย้ำหลายต่อหลายครั้งถึงแนวคิดการร่วมมือกับโลก ไม่ใช่โลกขั้วเดียว แบบที่ทางอเมริกาและตะวันตกเคยนำเสนอเอาไว้

อนึ่ง ในการพบปะสื่อมวลชน เพื่อแถลงเปิดตัวคณะผู้บริหารระดับสูงของพรรคฯ ในสมัยที่ 3 ของ สี จิ้นผิง ได้กล่าวประโยคทองที่กำลังถูกพูดถึงวงกว้างทันที นั่นคือ "จีนไม่สามารถพัฒนาได้หากปราศจากโลก และโลกก็ต้องการจีนเช่นกัน" ประโยคดังกล่าวสื่อถึงจุดยืนของจีนในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ของสี จิ้นผิง จีนกำลังเปิดสู่โลกมากขึ้นอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 จีนชูระบบเศรษฐกิจวงจรคู่ เน้นพัฒนาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อลดการพึ่งพาโลกควบคู่ไปกับเศรษฐกิจภายนอก 

ดังนั้น ก็ต้องจับตามองให้ดีว่า จีนจะสร้างความเชื่อมั่นเพื่อสร้างความร่วมมือกับโลก ผ่านนโยบายที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นนโยบายหลัก อย่าง GDI หรือ Global Development Initiative หรือแม้แต่สานต่อ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่ตอนนี้ส่งไม้ต่อให้ GDI เป็นภาคต่อในแบบฉบับ "โลกต้องการจีน" ตามที่สี จิ้นผิง ระบุเอาไว้ได้อย่างไร

3. การสร้างสมดุลของนโยบายรุ่งเรือง (มั่งคั่ง) ร่วมกัน และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ประกาศแนวทางชัดเจนในการดำเนินการตามนโยบายรุ่งเรืองร่วมกัน โดยมีนัยสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรายได้น้อยและรายได้สูง ไม่ให้รวยกระจุก และพยายามสร้างความเจริญไปยังหัวเมืองระดับสาม ระดับสี่ และพื้นที่ชนบทของจีนให้มีความเจริญขึ้น ความจริงก็สร้างมาตั้งนานแล้ว เพราะนโยบายเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ไม่ใช่แนวคิดใหม่ หากแต่มีมาตั้งแต่เริ่มแรกสมัยเหมา เจ๋อตง โดย สี จิ้นผิง ฟื้นฟูแนวคิดขึ้นมา นัยหนึ่งคือ สร้างฐานแน่นของสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์แบบจีนและการสร้างชาตินิยมอย่างยิ่งยวด

กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว การจะสร้างพื้นที่หัวเมืองรอบนอก และพื้นที่เกิดใหม่ ให้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง ไม่โดนทิ้งร้างเหมือนในยุคที่จีนบูมอสังหาริมทรัพย์ และเน้นพัฒนารวดเร็ว คือคำตอบที่จีนต้องแสดงออกมาให้โลกได้เห็น

นอกจากนี้ ยังมีการวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ถึงเหตุการณ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจในจีนและต่างประเทศ โดยเฉพาะสายเทคโนโลยี เผชิญกับผลกระทบจากนโยบายเจริญรุ่งเรืองรวมกัน โดยผลประกอบการและกำไรที่ลดลง และต้องคืนสู่สังคมมากขึ้น ข้อนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่น และย้ายถิ่นฐานธุรกิจออกไปจากจีน 

ทั้งนี้ จีน ออกมาย้ำจุดยืน "นโยบายเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน คือการสร้างจีนแบบยั่งยืน ยอมให้จีนชะลอตัวในระยะสั้น แต่ส่งผลดีในระยะยาว" ข้อนี้ สี จิ้นผิง เน้นย้ำในการรายงานการทำงานเมื่อเปิดประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ครั้งที่ 20 โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงบนพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่ยังไม่ลดลง จีนจะเดินหน้าพัฒนาได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่? 

4. การว่างงาน ยังคงเป็นแผลฉกรรจ์ ที่อาจเรื้อรังต่อในอนาคต

ตัวเลขการว่างงานที่สำรวจในเขตเมืองของจีน (Urban Surveyed Unemployment Rate) ในเดือนกันยายน 2565 เพิ่มจากสิงหาคมที่ 5.3% มาเป็น 5.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังคงสูงขึ้นกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยเฉลี่ยไม่เกิน 4% และถ้าดูตัวเลขการว่างงานของคนหนุ่มสาวอายุช่วง 16-24% ที่ทางจีนระบุว่า คือการว่างงานชั่วคราว ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ตัวเลขอยู่ที่ 17.9% ในเดือนกันยายน ลดลงจากสิงหาคมที่ 18.7% และกรกฎาคมอยู่ที่ 19.9% ที่สูงเป็นประวัติการณ์

ทางจีนชี้แจงในมุม "การว่างงานชั่วคราวของคนหนุ่มสาว อาจมาจากการคาดหวังเรื่องงานและรายได้ของหนุ่มสาวที่ไม่ตรงกับตำแหน่งงานที่มี ณ ขณะนั้น" แต่หากมองลึกลงไป เป็นกระจกสะท้อนสภาพเศรษฐกิจและสภาพตลาดแรงงานได้

มองย้อนไปช่วงก่อนโควิด-19 อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวของจีนแตะระดับสิบนิดๆ เท่านั้น ซึ่งเหนือกว่าอเมริกานิดหน่อย แต่น้อยกว่าสหภาพยุโรปค่อนข้างเยอะ โดยมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว เพราะผลกระทบที่สืบมาจากสงครามการค้าจีนอเมริกา (ช่วงเวลาเดียวกันนั้น อเมริกาก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย) และปัญหาวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มก่อแววเลวร้าย พอมาถึงยุคโควิด-19 จึงเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 15% 

จีนอาจจะมองว่า ยังคงดีกว่าสหรัฐอเมริกาที่รับมือโควิด-19 สู้จีนไม่ได้ อัตราการว่างงานคนหนุ่มสาว พุ่งไปเกือบถึง 30% แต่พอย้อนกลับมาสู่โลกความจริง หลังจากที่อเมริกาพุ่งขึ้นไปแตะในจุดสูงสุดนั้น ราวกลางปี 2563 ก็ค่อยๆ ลดลงมาต่อเนื่อง ในทางกลับกันจีนกลับสวนทาง เริ่มพุ่งขึ้น โดยลดลงไปบ้างช่วงต้นปี 2564 ที่ GDP ไตรมาสแรกพุ่งไปเกือบ 20% เช่นกัน (เห็นไหมว่า มันสัมพันธ์กัน) หลังจากกลางปี 2564 เป็นต้นมา ตัวเลขนี้ของจีนพุ่งขึ้นจนทำลายสถิติในเดือนกรกฎาคม 2565 ตามที่กล่าวมาแล้ว

การวิเคราะห์ข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงแผลทางเศรษฐกิจจีนของจีนทั้งก่อนและเมื่อเข้าสู่การระบาดโควิด-19 และยิ่งตอกย้ำผลกระทบของมาตรการแก้โควิดที่จีนเลือกใช้ว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนในทุกภาคส่วน

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่