เปิดไทม์ไลน์นับถอยหลัง ‘อีลอน มัสก์’ ซื้อ ‘ทวิตเตอร์’
ขึ้นชื่อว่า อีลอน มัสก์ ทำอะไรธรรมดาไม่เป็น จะหยิบจับอะไรทีล้วนเป็นข่าวไปหมด รวมถึงการเข้าซื้อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย “ทวิตเตอร์” ที่สร้างความฮือฮามาตลอดถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ดีลกำลังจะเป็นจริงในวันศุกร์ สัปดาห์นี้จึงเป็นไทม์ไลน์ร้อนระหว่างมัสก์กับทวิตเตอร์
25 ต.ค. นักลงทุนในตราสารทุน ซึ่งรวมถึง ซีคัวญา แคปิตอล (Sequoia Capital), ไบแนนซ์ (Binance), กาตาร์ อินเวสต์เมนต์ ออธอริตี้ (Qatar Investment Authority) และอื่น ๆ ได้รับเอกสารที่จำเป็นสำหรับข้อตกลงทางการเงินจากทนายความของนายมัสก์
26 ต.ค. มัสก์เดินทางเยี่ยมชมสำนักงานของทวิตเตอร์ในซานฟรานซิสโก พร้อมบอกเป็นนัยว่าเขาเป็นหัวหน้าระดับสูงของบริษัท โดยเปลี่ยนคำอธิบายโพรไฟล์ของตนเองบนทวิตเตอร์เป็น “หัวหน้าทวิต” (Chief Twit)
27 ต.ค. รายงานข่าวจากซีเอ็นบีซีอ้างแหล่งข่าวระบุ อีลอน มัสก์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เทสลา อิงก์เข้าควบคุมทวิตเตอร์แล้ว ปารัก อักราวัล ซีอีโอ ทวิตเตอร์ และเนด ซีกัล ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน(ซีเอฟโอ) ออกจากสำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์ในซานฟรานซิสโกแล้ว และจะไม่กลับเข้าไปอีก
28 ต.ค. มัสก์มีกำหนดเส้นตายที่จะต้องเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ให้เสร็จสิ้น ตามคำสั่งศาล
ซีอีโอเทสลา เคยกล่าวว่า เขาต้องการกำราบสแปมบอตบนทวิตเตอร์ สร้างอัลกอริธึมที่ตัดสินใจได้ถึงการนำเสนอเนื้อหาต่อผู้ใช้ และป้องกันไม่ให้ทวิตเตอร์กลายเป็นเวทีสร้างความเกลียดชังและแตกแยก แม้ว่าเขาจำกัดการเซ็นเซอร์ก็ตาม
แต่มัสก์ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าจะบรรลุความตั้งใจดังกล่าวและบริหารบริษัทอย่างไร กล่าวเพียงว่า มีแผนลดพนักงาน ในอนาคตเหลือราว 7,500 คนและว่า ที่ซื้อทวิตเตอร์ไม่ใช่เพราะจะหาเงินเพิ่ม แต่ “พยายามช่วยมนุษย์คนที่เขารัก”