"ไทย" พร้อมไหม รับมือวอล์กเอาท์ "การเมืองโลก" ป่วน APEC 2022
โลกแบ่งขั้วอำนาจ มองหาพันธมิตร ชิงไหวชิงพริบ หวังตอบโต้และขยายอิทธิพลในภูมิภาค ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ดำเนินมานาน 9 เดือนได้เพิ่มดีกรีความร้อนแรง ตอกย้ำการเมืองโลกยังอยู่ในภาวะปั่นป่วนสูง
ในการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 29 (APEC 2022) ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า ไทยในฐานะเจ้าภาพจะได้ต้อนรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี ตลอดจนผู้นำเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ล้วนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร
การประชุมเอเปค จะเป็นเวทีหารือพูดคุย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจบนความพยายามของสมาชิกเอเปคและทั่วโลก ต้องการฟื้นตัวหลังเผชิญโรคระบาดใหญ่ แต่ตอนนี้ "โลกแบ่งเป็นขั้วอำนาจ" พร้อมบวกและเปลี่ยนเข้าโหมดการเมืองระหว่างประเทศได้เสมอ แล้วไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค จะมีแผนรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
เมื่อย้อนไปเมื่อหลายเดือนก่อน การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคไม่อาจออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ได้หลายต่อหลายครั้ง อย่างในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เมื่อเดือน พ.ค. เกิดเหตุการณ์ที่ผู้แทนจาก 5 ประเทศ สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น “วอล์กเอาท์” ออกจากที่ประชุมระหว่างที่ผู้แทนรัสเซียกล่าวถ้อยแถลง สะท้อนสัญลักษณ์เชิงไม่พอใจต่อเหตุรัสเซียบุกยูเครน ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
ในครั้งนั้น บางเขตเศรษฐกิจเสนอให้มีการบรรจุเรื่องความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนเข้าไปในแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคเพราะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงานโลก แต่รัสเซียไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าไม่เกี่ยวกับเวทีการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค
ส่วนการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค เมื่อเดือน ต.ค. ก็มีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่เรื่องเศรษฐกิจและการบริหารการคลังมีความเห็นตรงกันเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเอเปคในเดือน พ.ย.นี้
มาจนถึงขณะนี้ หลายฝ่ายยังคงจับตาว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน จะเดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปคที่ไทยด้วยหรือไม่ หรือถ้าส่งผู้แทนเข้าร่วม แน่นอนเวทีผู้นำเอเปคยังสุ่มเสี่ยงเผชิญบรรยากาศการวอล์คเอาท์อยู่ดีทั้งที่ประเด็นการเมืองไม่ควรนำมายุ่งเกี่ยวกับเวทีเศรษฐกิจ ไม่ว่าเขตเศรษฐกิจใดจะเป็นเจ้าภาพการประชุม
การทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพเอเปคจะเวียนกลับมาอีกทีก็ 19 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงหวังจะได้เห็นบทบาทผู้นำ ไทยทำหน้าที่ "คนกลาง ช่วยสมานมือ" ทุกเขตเศรษฐกิจที่ล้วนบอกว่าไทยเป็นพันธมิตร ให้มองผลประโยชน์ร่วมกันเหนือการเมือง