"อาเซียน-G20-เอเปค" เกมอำนาจผู้นำโลก
รัฐบาลจะดีลกับรัสเซียอย่างไร ให้ไทยได้ประโยชน์และภาพลักษณ์ไม่เสียหายในสายตาชาวโลก นี่เป็นสิ่งที่ผู้นำต้องคิด ในเมื่ออยากอยู่ในอำนาจไปนานๆ อย่าคิดเฉพาะเกมดูด ส.ส. กันไปมาก่อนการเลือกตั้ง ต้องอ่านเกมมหาอำนาจโลกด้วย
เห็นข่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปกรุงพนมเปญของกัมพูชา ก็นึกขึ้นได้ว่า ตั้งแต่วันนี้ (11 พ.ย.) เป็นต้นไป อีกหนึ่งสัปดาห์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะจัดการประชุมผู้นำโลก 3 งานไล่กันไป
เริ่มตั้งแต่การประชุมผู้นำอาเซียนและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปจนถึงวันที่ 13 พ.ย. ที่กรุงพนมเปญ ตามด้วยการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย วันที่ 15-16 พ.ย.
ปิดท้ายด้วยการประชุมเอเปคในกรุงเทพฯ วันที่ 14-19 พ.ย. โดยระดับผู้นำจะประชุมกันในวันที่ 18-19 พ.ย. ประเด็นผู้นำคนไหน ไปร่วมประชุมที่ไหนบ้างยังคงน่าสนใจเนื่องจากหลายคนมาจากประเทศห่างไกลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชุมติดๆ กันแบบนี้ก็คงต้องเลือกร่วมบางรายการ
วานนี้ (10 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลเกาหลีใต้ยืนยันว่า ประธานาธิบดียุน ซอก-ย็อล ไปร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนแนะG20 และอาจมีการพบปะทวิภาคีกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ และไตรภาคี โดยมีนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นมาร่วมด้วย นอกรอบการประชุมเวทีใดเวทีหนึ่ง
สำหรับประธานาธิบดียุน ก่อนหน้านี้ข้อมูลวงในบอกว่าจะมาร่วมประชุมเอเปคในไทย แต่ต่อมาให้นายกรัฐมนตรีมาแทนโดยให้เหตุผลว่าเกิดเหตุอิแทวอน ทำให้ประธานาธิบดีมาไม่ได้ แต่เมื่อเห็นกำหนดการไปอาเซียนและ G20 แล้วคิดว่าขัดแย้งกันอยู่
เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ เป็นไปได้หรือไม่ว่า แพ็ก 3 เกลอ สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่งนายกฯญี่ปุ่นมาร่วมเอเปคแทน เพราะถ้าไม่ส่งระดับผู้นำมาเลยย่อมเปิดทางให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนโดดเด่นในการประชุมที่ไทยซึ่งในทางภูมิศาสตร์ใกล้กับจีนมากกว่าสหรัฐ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องมโนแต่ชวนให้คิดต่อถึงเกมการเมืองโลก
อีกคนหนึ่งที่ชวนให้ลุ้นจนนาทีสุดท้ายคือประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน วานนี้เช่นกัน สถานทูตรัสเซียในกรุงจาการ์ตายืนยันว่า ประธานาธิบดีปูตินจะไม่เข้าร่วมประชุมG20 ที่บาหลี
ถ้าอย่างนั้น ปูตินก็น่าจะไม่มาเอเปคที่กรุงเทพฯ ด้วยน่ะสิ! เช็กข้อมูลจากแหล่งข่าวได้ความว่า เวที G20 ยืนยันแล้วว่าไม่ไป แต่เวทีเอเปคต้องรอยืนยัน ดังนั้น เจ้าภาพไทยจึงยังมีสิทธิลุ้นรอรับแขกพิเศษ ที่ว่าพิเศษเพราะท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรจากโลกตะวันตก รัสเซียมีทีท่าจะขยับเข้ามาใกล้ชิดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เพราะอย่างน้อยๆ ก็มีเกลอเก่าอย่าง ลาว เวียดนาม และเมียนมา ลูกค้าอาวุธรายใหญ่
รัสเซียมีข้อได้เปรียบตรงที่มีน้ำมันและก๊าซ สินค้าที่ใครๆ ก็ต้องการแม้รับประทานไม่ได้ อีกทั้งประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การรุกรานยูเครน เรียกได้ว่า คนแถวนี้คบแล้วสบายใจ
ไทยเองในช่วงที่ต้องการฟื้นภาคการท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวจีนคงยังไม่กลับมาง่ายๆ ขณะที่ชาวรัสเซียไปยุโรปยากขึ้น ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างดูเหมือนตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน แต่จะดีลกับรัสเซียอย่างไรให้ไทยได้ประโยชน์และภาพลักษณ์ไม่เสียหายในสายตาชาวโลกเป็นสิ่งที่ผู้นำต้องคิด ในเมื่ออยากอยู่ในอำนาจไปนานๆ อย่าคิดเฉพาะเกมดูด ส.ส. กันไปมาก่อนการเลือกตั้ง ต้องอ่านเกมมหาอำนาจโลกด้วย