‘อินโดนีเซีย’ ย้ายเมืองหลวง หนีภัยพิบัติจากโลกร้อน
‘อินโดนีเซีย’ ย้ายเมืองหลวง หนีภัยพิบัติจากโลกร้อน โดยกรุงจาการ์ตาเสี่ยงจมน้ำภายในปี 2593 พื้นที่ 40% เริ่มอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือจมลงปีละ 4.9 ซม.
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 พ.ย.) บรรดาผู้นำโลกที่มารวมตัวกันในการประชุมรัฐสภากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 27 ที่อียิปต์ พยายามหาแนวทางและกำหนดกรอบความร่วมมือ บรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
ที่ประชุมเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติให้แก่ประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประเทศร่ำรวยเป็นผู้ก่อมลพิษมากกว่า จนทำให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเลวร้ายเช่น น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถาน พายุเฮอริเคน หรือพายุไต้ฝุ่นที่พัดถล่มเมืองสำคัญหลายแห่งในปีนี้
เช่นเดียวกับกรุงจาการ์ตา ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั้งฝนตกหนัก น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และแผ่นดินทรุดตัว รัฐบาลจึงตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปเมืองที่ปลอดภัยกว่าเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรจำนวนกว่า 10.5 ล้านคน
ด้วยความที่พื้นที่ 1 ใน 4 ของกรุงจาการ์ตาตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของเกาะชวามีประชากรหน่าแน่นมาก และเสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2593 รัฐบาลอินโดนีเซียจึงวางแผนหาที่ตั้งเมืองหลวงใหม่พร้อมตั้งชื่อว่า ‘นูซันตารา’ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของจังหวัดกาลิมันตัน บนเกาะบอร์เนียว
แต่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำให้กรุงจาการ์ตาเสี่ยงจมน้ำ ด้วยการสูญเสียน้ำใต้ดินจนดินทรุดตัวเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการหนุนของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ที่เป็นผลมากจากโลกร้อนด้วย
‘เอ็ดวิน อัลเดรียน’ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย และสถาบันการเกษตรโบกอร์ของมหาวิทยาลัยอุทัยนาในบาหลี ให้ความเห็นว่า การย้ายเมืองหลวงไม่ได้ช่วยให้ปริมาณฝนตกหนักและน้ำท่วมหมดไป โดยอาจเกิดภัยพิบัติรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคตทั้งในกรุงจาการ์ตาและเมืองนูซันตารา พร้อมเตือนว่า พื้นที่กรุงจาการ์ตา 40% เริ่มอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และพื้นที่ทางตอนเหนือของเมือง กำลังจมลงเรื่อย ๆ ประมาณ 4.9 เซนติเมตร/ปี
การทรุดตัวของแผ่นดิน มีสาเหตุหลักมาจาก‘การใช้น้ำบาดาล’ แม้ว่าฝนตกหนัก จะเติมเต็มชั้นหินอุ้มน้ำใต้พื้นดินและหนุนพื้นดินในกรุงจาการ์ตาให้สูงขึ้น แต่การขยายเมืองคอนกรีต ทำให้น้ำฝนไม่สามารถเติมเต็มชั้นหินอุ้มน้ำได้เต็มที่ อีกทั้งถนนมักเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง
“คุณไม่สามารถทำอะไรได้ ถูกขังอยู่ในบ้าน ใช้รถไม่ได้ ไฟฟ้าและการสื่อสารทั้งหมดถูกตัดขาด น้ำดื่มสะอาดถูกสิ่งสกปรกปนเปื้อน เนื่องจากท่อระบายน้ำตัน” อัลเดรียน กล่าว
นอกจากนี้ ข้อมูลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ยังระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงจาการ์ตาล้วนเกิดขึ้นกับเมืองอื่น ๆ ในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเมืองตามชายฝั่งกำลังจมน้ำอย่างรวดเร็วมากกว่าภูมิภาคอื่นของโลก อาทิ นครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจของเวียดนาม, เมืองย่างกุ้งของเมียนมา, เมืองจิตตะกองของบังกลาเทศ,นครเทียนจินของจีน, และเมืองอาห์เมดาบัดของอินเดีย เป็นหนึ่งในเมืองที่เสี่ยงจมน้ำมากที่สุด จากการรองรับประชากรจำนวนมากและการขยายตัวของเมือง
แผนย้ายเมืองหลวงของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เริ่มดำเนินการแล้ว โดยเฟสแรกจะเสร็จสิ้นในปี 2567 ส่วนเฟสที่ 2 จะเสร็จสิ้นภายในปี 2568-2578 และเฟสที่ 3 จะเสร็จสิ้นภายในปี 2578-2588 เป็นการพัฒนาโครงสร้างเมืองทั้งหมด ทั้งทางกายภาพ ภาวะเศรษฐกิจและสังคม
ส่วนเฟสสุดท้าย นูซันตาราจะเปิดตัวเป็นเมืองหลวงชื่อดังระดับโลกในฐานะ ‘World City for All’ ด้วยการสร้างงานกว่า 4.8 ล้านตำแหน่งภายในปี 2588
จากข้อมูลแผนสร้างเมืองจากเว็บไซต์ ibu kota negara ระบุว่า ตึกสูงในเมืองจะมีโครงสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเดินทาง 80% มีรถโดยสารสาธารณะไว้บริการ และมีการสัญจรอย่างคล่องตัว เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญหลายอย่างจะอยู่ห่างจากศูนย์โดยสารสาธารณะเพียง 10 นาที
พื้นที่ 10% ของเมืองจะอุทิศให้กับการผลิตอาหาร ขยะ 60% ในเมืองจะถูกรีไซเคิลภายในปี 2588 และน้ำเสียทั้งหมด 100% จะได้รับการบำบัดโดยระบบจัดการน้ำของเมือง
ภายในปี 2578 ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งการบริการทางสังคมและชุมชนจะตั้งห่างจากบ้านเพียง 10 นาทีเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรรใช้พลังงานสะอาด และเมืองจะปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2588 ด้วยความคิดริเริ่มนี้ นูซันตาราจึงมุ่งหมายก้าวเป็นหนึ่งในเมืองน่าอยู่ 10 อับดับแรกของโลกในดัชนี Global Liveability Index ภายในปี 2588
แต่นักวิจารณ์ชี้ว่าเมืองหลวงแห่งใหม่ กำลังก่อสร้างบนเกาะที่เต็มไปด้วยป่าดิบชื้นและเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน จึงกลัวว่าเมืองหลวงแห่งใหม่นี้ อาจเผชิญกับปัญหาเหมือนที่กรุงจาการ์ตาเจอ ดังนั้น การสร้างเมืองใหม่บนเกาะบอร์เนียวจึงไม่ได้ช่วยบรรเทาวิกฤตภัยธรรมชาติ
‘ทิซา มาฟิรา’ หัวหน้าหน่วยงานกำหนดนโยบายสภาพภูมิอากาศของอินโดนีเซีย มีมุมมองที่ต่างออกไป โดยเห็นว่า การตัดสินใจย้ายไปสร้างเมืองหลวงนูซันตารา ในจังหวัดกาลิมันตัน เพราะพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยป่า ทำให้ต้องทำลายพื้นที่ป่าเพื่อสร้างเมือง และนูซันตาราอาจจะกลายเป็นเมืองไร้ค่าบนเกาะบอร์เนียว มากกว่าจะเป็นเมืองสีเขียว
ส่วน "ชิสะ ยูเมมิยะ" ผู้จัดการฝ่ายวิจัยจากสถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลกในญี่ปุ่น มีความเห็นว่า การลดมลพิษคือแนวทางแก้ปัญหา แต่ใครเป็นคนทำบ้าง? ชิสะ คิดว่าความรับผิดชอบนี้ ควรเป็นหน้าที่ของประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาร่วมกัน