ทูตแคนาดาชื่นชมไทยเจ้าภาพเอเปค‘งานยาก’
ทูตแคนาดาชื่นชมไทยเจ้าภาพเอเปค‘งานยาก’ โดยแคนาดา ประเทศอเมริกาเหนือที่ห่างไกลออกไปถึงครึ่งโลก แต่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมานาน และเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมในสัปดาห์นี้
แคนาดา ประเทศอเมริกาเหนือที่ห่างไกลออกไปถึงครึ่งโลก แต่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมานาน และเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมในสัปดาห์นี้ ซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์พิเศษกรุงเทพธุรกิจ ถึงการมีส่วนร่วมของแคนาดากับการประชุมเอเปคครั้งนี้
ความสำคัญของเอเปคต่อแคนาดา
ทูตเทย์เลอร์ กล่าวว่า เอเปคสำคัญมากสำหรับแคนาดา
“เราก็เหมือนกับไทยที่เป็นสมาชิกก่อตั้งเอเปค ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสำคัญไม่ใช่แค่ต่อเศรษฐกิจโลก แต่สำคัญต่อการค้าของเราด้วยเช่นกัน ภูมิภาคนี้คิดเป็นราว 60% ของจีดีพีโลก คู่ค้าทวิภาคีของแคนาดาส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียแปซิฟิก”
ในการเตรียมตัว แคนาดาเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีการค้า การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และอื่นๆ ล่าสุดคือการประชุมรัฐมนตรีคลัง ก่อนถึงการประชุมระดับผู้นำในอีกไม่กี่วัน ต้องยอมรับว่า การประชุมเหล่านั้นทำให้มุมมองทางเศรษฐกิจและการค้าที่แตกต่างกันเกิดเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง
ยิ่งการประชุมระดับผู้นำยิ่งสำคัญ
"เราเตรียมการสำหรับการมาเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อร่วมซัมมิต ตั้งตารอการประชุมครั้งสำคัญนี้ เพราะตั้งแต่โควิด-19 ระบาดผู้นำเอเชียแปซิฟิกไม่ได้เจอกันด้วยตนเองเลยตลอดสองปี ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ตัวแทนระดับสูงได้เข้าร่วม เราก็หวังจะได้เน้นย้ำแก้ปัญหาความท้าทายหลักๆ ทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคและโลกกำลังเผชิญอยู่"
มุมมองจากแคนาดา
ทูตเผยว่า ประเด็นสำคัญที่แคนาดาจะนำมาหารือในเอเปคมีสามเรื่องใหญ่ เรื่องแรก กระบวนการเอเปคอย่างเป็นทางการ ที่ไทยในฐานะเจ้าภาพกำลังทำงานเอกสารเรียกว่า Bangkok Goals ซึ่งต่อยอดจากเอกสารที่เอเปคเคยเห็นชอบจากการประชุมผู้นำครั้งก่อนๆ แคนาดาสนับสนุน Bangkok Goals และการทำงานในขั้นต่อไปในการกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาวสำหรับภูมิภาคและดำเนินการไปสู่เป้าหมาย
เรื่องที่ 2 ไทยชูโมเดลบีซีจีที่ต้องคุยกันในรายละเอียดและแคนาดาสนับสนุนมาก ด้วยมองว่าบีซีจีเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นตัวหลังโควิด การฟื้นตัวใดๆ หลังจากนี้ต้องเป็นความยั่งยืน ซึ่งบีซีจีเป็นหนทางไปสู่สิ่งนั้น
เรื่องที่ 3 ความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เกิดความปั่นป่วน จากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน ส่งผลร้ายแรงต่อซัพพลายอาหาร พลังงาน และเงินเฟ้อ สร้างความท้าทายใหญ่หลวงและบั่นทอนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกเอเปคควรร่วมมือกันแก้ปัญหาในบริบทนี้ด้วย
การมีส่วนร่วมของแคนาดาต่อเอเปค
ทูตแคนาดาย้ำว่า ภายใต้แนวคิดหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ที่แคนาดาชอบมาก แต่ผลกระทบจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครนขัดแย้งกับแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคครั้งนี้อย่างรุนแรง
"ผลจากสงครามปิดกั้นการค้า ลดการเปิดกว้าง ทำลายสิ่งแวดล้อม ตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ของ Open. Connect. Balance. ทุกอย่าง" นั่นคือคำตอบจากทูตส่วนแคนาดาจะทำอะไรได้บ้างนั้น ในแง่ของ Open แคนาดาดีใจมากที่จะได้เห็นไทยพูดถึงเขตการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวที่สำคัญ "เราชอบมากที่ไทยสนับสนุนการค้าเสรี"
นอกจากนี้ยังมีการเปิดกว้างในฐานะสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) และแคนาดากับอาเซียนกำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกันด้วย
สำหรับ Connect เป้าหมายหนึ่งของเอเปคคือปรับปรุงการเดินทางของผู้คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ถ้าเฉพาะบริบทของไทยกับแคนาดา เดือน ธ.ค.นี้จะเปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ - แวนคูเวอร์ เป็นเที่ยวบินตรงเที่ยวเดียวระหว่างอเมริกาเหนือกับกรุงเทพฯ
ส่วน Balance เป็นเรื่องของความยั่งยืน และบีซีจี ที่แคนาดาให้การสนับสนุนเป้าหมายการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
"ต้องยอมรับว่าโควิดส่งผลกระทบกับบุคคลแตกต่างกัน เมื่อเราฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดก็ต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องผู้หญิง คนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มอื่นๆ ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าย่อมต้องการความช่วยเหลือมากกว่า แคนาดาจึงทำงานหนักเพื่อสนับสนุนเป้าหมายเหล่านั้น"
ชื่นชมไทยเป็นเจ้าภาพในปีที่ยาก
เนื่องจากรัสเซียเป็นสมาชิกเอเปคด้วยเช่นกัน การประชุมรัฐมนตรีเมื่อเดือน พ.ค. บางประเทศ
เช่น แคนาดา สหรัฐ ญี่ปุ่น คว่ำบาตรรัสเซียด้วยการวอล์คเอาท์ จึงน่าห่วงว่าประเด็นรัสเซียรุกรานยูเครนอาจบดบังการประชุมผู้นำเอเปค
ประเด็นนี้ทูตเทย์เลอร์ชื่นชมไทยที่เป็นเจ้าภาพในปีที่ยากและสำคัญมากต่อการประชุม ซึ่งไทยทำงานได้โดดเด่นในการนำสมาชิกเอเปคมาพูดคุยกันเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้บริบททางการเมืองที่ยากเย็น การประชุมผู้นำจะเป็นอย่างไรทูตคาดการณ์ไว้สองแนวทาง
แนวทางแรก รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นส่วนหนึี่งในวาระของเอเปค เพราะเกี่ยวข้องกับสมาชิกเอเปค ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองแต่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอย่างมากและส่งผลมหาศาล การประชุมรัฐมนตรีคลังที่กรุงวอชิงตันเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ทั้งไอเอ็มเอฟ เวิลด์แบงก์ เอดีบีคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีหน้าค่อนข้างไม่สดใส ประเด็นเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
ประการที่ 2 การหารือไม่ว่าเอเปคหรือองค์กรพหุภาคีใดๆ ต้องนำผู้คนมาคุยกันเวลาพวกเขามีความเห็นไม่ตรงกัน
“เวลาทุกคนเห็นตรงกันมันง่าย แต่เมื่อเห็นไม่ตรงกันการทูตและความร่วมมือเป็นเรื่องสำคัญมาก การประชุมเอเปคคราวนี้จึงสำคัญ"
บทบาททูตในเอเปค บทบาทของผู้หญิงต่อสังคม
ในฐานะเอกอัครราชทูต หน้าที่สำคัญที่สุดในเอเปคคือสนับสนุนนายกรัฐมนตรีแคนาดา รัฐมนตรีและภาคธุรกิจผู้เข้าร่วมประชุมในทุกๆ ด้าน
“ดิฉันและทูตคนอื่นๆ เราแสดงบทบาทหลังฉาก เพราะผู้นำต้องอยู่หน้าฉาก” ทูตเทย์เลอร์กล่าว แต่ถ้าพูดในแง่บทบาทผู้หญิงซึ่งสำคัญมากต่อแคนาดา เป็นส่วนสำคัญในนโยบายต่างประเทศที่มี feminist foreign policy ในบริบทนี้แคนาดาทำงานหลายอย่าง เช่น ผู้หญิงกับการค้าขาย การสนับสนุนผู้ประกอบการหญิง หรือผู้หญิงกับเอสเอ็มอีทั้งระดับโลกและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศแคนาดาเป็นผู้สนับสนุนสำคัญในประเด็นนี้
เวทีหนึ่งที่สำคัญคือการสนับสนุนนักธุรกิจหญิงที่เข้าประชุม APEC Business Advisory Council 2022 (ABAC 2022)
“จากประสบการณ์ส่วนตัว การส่งเสริมพลังผู้หญิงนั้นเมื่อผู้หญิงเป็นผู้นำจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการหญิงรุ่นใหม่รู้สึกว่า ฉันก็ทำได้”
ในมิติที่กว้างขึ้นทูตอธิบายว่า แค่การเสริมพลังและช่วยเหลือ ผู้หญิงในทุกระดับจะเข้ามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนเป็นธรรมและการสร้างเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด ตัวอย่างเช่น แคนาดาสนับสนุนโครงการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สนับสนุนให้ผู้หญิงเป็นผู้นำในวิสาหกิจขนาดเล็กด้านการเงินและรู้เท่าทันดิจิทัล ให้ผู้หญิงเข้าถึงเงินทุนและเครื่องมือเพื่อช่วยให้ธุรกิจของพวกเธอเติบโต
“นี่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริงที่เราทำเพื่อสร้างหลักประกันว่าเราไม่ได้สนับสนุนแค่ผู้หญิงในระดับนำแต่ยังรวมถึงผู้หญิงในระดับรากหญ้าด้วย เพราะพวกเธอคือส่วนสำคัญของการเติบโตและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”
ความคาดหวังของแคนาดาต่อไทย
ด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แข็งแกร่ง เพิ่งฉลองความสัมพันธ์ 60 ปีเมื่อปีก่อน การค้าระหว่างกันก็ทะลุระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ทูตเทย์เลอร์ยืนยันว่า ยังมีงานให้ต้องทำอีกมาก ทั้งระหว่างแคนาดากับไทยและระดับภูมิภาคในภาพรวม ซึ่งอาจกระทำผ่านเอเปคหรืออาเซียน โดยแคนาดาเป็นประเทศคู่เจรจากับอาเซียน ปีนี้เป็นปีที่ 45 แห่งความสัมพันธ์แคนาดา-อาเซียนที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สันติภาพและความมั่นคง การศึกษา การติดต่อระหว่างประชาชนกับประชาชน
“ที่สำคัญคือการที่ประชาชนได้ไปมาหาสู่ทำความรู้จักกัน การมีไดเร็คไฟลท์จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี ช่วงวันหยุดคนไทยจะได้ไปเที่ยวแคนาดามากขึ้น หรือไปเรียนหนังสือ และในทำนองเดียวกันคนแคนาดาจะมาไทยมากขึ้น ช่วยกันสร้างการฟื้นตัวที่ยั่งยืนมากขึ้น” ทูตกล่าวและว่า นอกจากนี้ แคนาดายังลงนามเอ็มโอยูกับกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะมีผลในปีหน้าที่จะมีการนำคนหนุ่มสาวชาวแคนาดามาสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนทั่วประเทศไทย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่น่าตื่นเต้น