ชวน‘อ่านอิสราเอล’ ณ หอสมุดรัฐสภา
ชวนอ่านหนังสือดีๆ หลากหลายหมวดหมู่ที่สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย มอบให้กับหอสมุดรัฐสภา
"เรียนสื่อสารมวลชน
เมื่อเร็วๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้ส่งมอบหนังสือเกี่ยวกับประเทศอิสราเอลแด่หอสมุดรัฐสภา
หนังสือที่มอบมีเนื้อหาหลากหลาย ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับการค้นคว้าและปฏิบัติงานของรัฐสภา ทั้งยังเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัย นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศอิสราเอล และภูมิภาคตะวันออกกลาง
หนังสือทั้งหมดนี้จะจัดแสดงอยู่บนชั้นทางด้านซ้ายของโต๊ะเจ้าหน้าที่หอสมุดเป็นเวลาหนึ่งเดือน"
ข้อความจากสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยแจ้งข่าวถึงสื่อมวลชนพร้อมภาพประกอบสี่ภาพ สั้นๆ ได้ใจความตามหลักการสื่อสาร แต่อาจจะสั้นเกินไปสำหรับหนอนหนังสือที่แค่เห็นภาพก็เกิดความกระหายใคร่อ่าน อาการแบบนี้เกิดขึ้นกับหนอนทุกคนเมื่อเจอหนังสือถูกใจ ประเทศเล็กๆ ของชนชาติโบราณ วันนี้มีเทคโนโลยีก้าวหน้า ประกาศตัวเป็นชาติสตาร์ทอัพ “เขามีอะไรให้เราอ่าน”
หันไปมองภาพหนังสือที่สถานทูตส่งมาให้ แว้บแรกสะดุดตากับนางสิงห์ “โกลดา เมเอียร์” ในมือคีบบุหรี่ บนปกหนังสือ Lioness: Golda Meir and The Nation of Israel โดย Francine Klagsbrun ชีวประวัตินายกรัฐมนตรีคนที่ 4 และนายกฯ หญิงคนแรกของอิสราเอล อ่านรีวิวจาก nytimes.com หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนกล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงและเมเอียร์ในลัทธิไซออนนิสม์และอิสราเอล “นางสิงห์” ยื้อยุดเมเอียร์ออกจากเงาของสงครามยม คิปปูร์ ฉายภาพชีวิตและการงานของเธอในฐานะเลนส์ส่องความท้าทายของอิสราเอล
ชีวประวัติผู้นำน่าสนใจเสมอ อีกเล่มหนึ่งสำหรับคนที่เคยชมสารคดีเน็ตฟลิกซ์เรื่อง Never Stop Dreaming: The Life and Legacy of Shimon Peres จะต้องอยากอ่าน No Room for Small Dream: Courage, Imagination and the Making of Modern Israel, an autobiography by Shimon Peres อัตชีวประวัติของชิมอน เปเรส เด็กชายชาวยิวจากโปแลนด์ผู้อพยพเข้ามาในปี 1934 ขณะอายุได้เพียง 11 ปี เขาเติบโตขึ้นเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งแห่งทศวรรษที่ 20 ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวงในรัฐเกิดใหม่นามอิสราเอล เป็นศูนย์กลางในการสถาปนากองทัพและอุตสาหกรรมกลาโหมที่ช่วยให้รัฐเกิดใหม่แห่งนี้มีอำนาจป้องปรามอันแข็งแกร่ง มีบทบาทสำคัญต่อโครงการพลังงานนิวเคลียร์ของอิสราเอล และสร้างการปฏิวัติไฮเทคที่เรียกว่า “สตาร์ทอัพเนชัน”
อีกหนึ่งเล่มที่จะพลาดไม่ได้ในหมวดชีวประวัติบุคคลสำคัญ A State at Any Cost: The Life of David Ben-Gurion โดย Tom Segev กล่าวถึง เดวิด เบน-กูเรียน ผู้ตั้งใจแน่วแน่ตั้งแต่อายุน้อยว่าจะต้องมีรัฐของชาวยิวให้จงได้ กว่าจะมาถึงจุดนั้น เขามีวิสัยทัศน์อย่างไร มีความสามารถขนาดไหนจึงสามารถเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งประเทศอิสราเอล และผู้ประกาศอิสรภาพของอิสราเอลในวันสถาปนาประเทศ หลังจากนั้นแล้วเขานำประเทศผ่านสงครามมาได้อย่างไรหลายครั้ง ผ่านความขัดแย้งทั้งปวงไปสู่ความสำเร็จ ทอม เซเกฟ นักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์ แบ่งปันเรื่องราวของผู้นำระดับตำนานทั้งด้านอำนาจ ความเข้มแข็ง ความสามารถ รวมถึงความอ่อนแอ และข้อจำกัดต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีชีวประวัติของบุคคลสำคัญของอิสราเอลผู้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก อย่าง โมเช ดายัน และยิตซ์ฮัก ราบินด้วย รวมถึงหนังสือในหมวดประเทศอิสราเอลทั่วไปและการสร้างชาติ อาทิ LIKE DREAMERS: The Story of the Israeli Paratroopers Who Reunited Jerusalem and Divided a Nation โดย Yossi Klein Halevi หนังสือที่ได้รับรางวัลระดับชาติของอิสราเอลถึงสองรางวัล คือ Everett Family Jewish Book และ RUSA Sophie Brody Medal ยอซซี คลายน์ ฮาเลวีผู้เขียนได้เล่าเรื่องของกลุ่มนักกระโดดร่มในช่วงสงครามหกวันเมื่อปี 1967 ผู้มีส่วนร่วมในการนำกรุงเยรูซาเลมกลับมารวมตัวอีกครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องราวของนักกระโดดร่มหนุ่มทั้ง 7 คนที่มีอุดมการณ์และอนาคตต่างกัน แต่ต่างก็มีส่วนในการสร้างชาติ สร้างความแข็งแกร่งทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ ของอิสราเอล
อ่านเรื่องผู้นำแล้วต้องไม่พลาดอ่านเล่มนี้ SIX DAYS OF WAR: June 1967 and the Making of the Modern Middle East โดย Michael B. Oren หนังสือเกี่ยวกับสงครามหกวันที่ติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์ เล่าเรื่องราวของสงครามอันตึงเครียดแม้จะกินเวลาเพียงหกวัน บรรดาบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์หลายคนที่ได้ตำแหน่งและอำนาจ ล้วนมาจากความเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น โมเช ดายัน ของอิสราเอล, กามาล อับดุล นัสเซอร์ของอียิปต์, ลินดอน บี จอห์นสันของสหรัฐ และอะเลคเซย์ นีโคลาเยวิช โคซีกิน ของสหภาพโซเวียต ผู้เขียนประมวลข้อมูลต่างๆ ให้เห็นว่า วิกฤติและสงครามหลายครั้งในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่สงครามยม คิปปูร์เมื่อปี 1973 มาจนถึงความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่จนทุกวันนี้ รวมทั้งการถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางและของโลก ล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกับสงครามหกวันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม มุมหนังสือจากอิสราเอลใช่ว่าจะมีแต่เรื่องหนักๆ หนังสือจำพวกตำราอาหาร ท่องเที่ยวก็มีเหมือนกัน รวมถึงหนังสือภาษาไทยที่เขียนถึงอิสราเอลอย่างหนังสือเรื่อง ยิว โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเล่มที่ชื่อว่า คิดอย่างไร ใหญ่อย่างอิสราเอล ปาฏิหาริย์ความสำเร็จทางเศรษฐกิจอิสราเอล โดย แดน เซนอร์ และโซล ซิงเกอร์ และหนังสือชื่อ นวัตกรรมสุดล้ำจากอิสราเอล โดย อาวี ยัวริช เล่มนี้ผู้ประพันธ์เคยให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านได้ที่ห้องสมุดรัฐสภาแต่ขอเตือนว่า ต้องไปในวันและเวลาราชการเท่านั้น!!! หนังสืออยู่ที่มุมจัดแสดงตามที่แจ้ง ครบกำหนดหนึ่งเดือนจะถูกจัดเก็บเข้าชั้นตามหมวดหมู่ต่อไป หนอนหนังสือที่ไม่ว่างในเวลาราชการ อาจจะลำบากหน่อย เพราะดูท่าแล้วคนมีโอกาสอ่านน่าจะมีเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการรัฐสภา ได้แต่หวังว่า หนังสือดีๆ แบบนี้จะมีโอกาสปรากฏตัวอยู่ตามชั้นหนังสือในห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือห้องสมุดที่เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปได้อ่านบ้าง ซึ่งน่าจะสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของสถานทูตในการเปิดมุมมองผู้อ่านชาวไทยให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอิสราเอลมากขึ้น