เบื้องหลัง “รัสเซีย” อ่อนท่าทีกับข้อความไฮไลท์ปฏิญญาผู้นำ APEC
เมื่อเวทีเอเปค ที่เน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ต้องรับมือกับการเมืองระหว่างประเทศ และสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคเข้ามาแทรก ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค ปี 2565 จะพลิกสถานการณ์และรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร
นายกวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโสสถาบันการศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในที่ประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 ในระหว่างวันที่ 18 - 19 พ.ย.2565 ได้มีการพูดถึงสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค แม้ว่าเวทีนี้จะเน้นเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงอีก
มีรายงานว่า ที่ประชุมได้ถกเถียงกันในถ้อยคำที่ระบุในปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี ค.ศ. 2022 ที่จะมีคำว่า “คว่ำบาตร” (sanction) เนื่องจากจะเป็นรวมกลุ่มเพื่อสร้างแรงกดดันต่อเขตเศรษฐกิจแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งทางรัสเซียไม่ยอมรับอย่างแน่นอน ขณะที่ไทยก็เห็นว่า ปฏิญญาผู้นำจะต้องเป็นประโยชน์มากกว่าสร้างความแตกแยกและแตกต่าง ท่ามกลางความพยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเอเปค เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
หากแต่คณะทำงานฯเอเปค ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศได้พยายามพูดคุยกับทุกฝ่ายและใช้การทูตประสานงานกันอย่างหนัก กระทั่งประสบความสำเร็จ ตามที่ข้อความระบุในพารากราฟที่ 3 ของปฏิญญาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในภูมิภาคที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค และโลก ที่ระบุว่า
"ในปีนี้ เราได้พบเจอกับสงครามในยูเครน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแรง เอเปคมีการหารือในประเด็นนี้ เราได้ตอกย้ำจุดยืนที่ประจักษ์แล้วในเวทีอื่นๆ รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) การประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติที่ได้มีการพูดถึงมติยูเอ็น เลขที่ ES-11/1 วันที่ 2 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นที่ยอมรับและนำมาใช้ โดยคะแนนเสียงโหวตข้างมาก 141 ที่สนับสนุน 5 เสียงคัดค้าน 35 งดออกเสียง และอีก 12 เสียงไม่เข้าร่วมประชุม
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีทัศนะและประเมินที่ต่างกันไปเกี่ยวกับสถานการณ์และท่าทีต่อการ “คว่ำบาตร” ต่อรัสเซีย บรรดาผู้นำก็ตระหนักดีว่า เอเปคไม่ใช่เป็นเวทีที่แก้ปัญหาความมั่นคง แต่เราก็รับทราบว่า ประเด็นด้านความมั่นคงนั้น ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก" ในปฏิญญาผู้นำเอเปค ปี ค.ศ. 2022 ระบุ
การประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้ส่งนายแอนเดรย์ เบโลซอฟ รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง จะเป็นผู้แทนรัสเซียเดินทางมาร่วมการประชุม ท่ามกลางหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เอเปคอาจแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ติดปัญหาเรื่องสงครามยูเครนทำให้ผู้นำรัสเซียไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้