‘เอเปค’ วัด ‘การทูตไทย’ รุ่งหรือว่าร่วง

‘เอเปค’ วัด ‘การทูตไทย’ รุ่งหรือว่าร่วง

เบื้องหลังการทูตไทย และถอดรหัสความคิด "ผู้นำเอเปค" ทำไมถึงจบลงตรงที่เห็นร่วมกันว่าสงครามยูเครน และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ส่งผลต่อเศรษฐกิจภูมิภาค และโลกให้ย่ำแย่ลง เกิดภาวะการขาดแคลนซัพพลายเชน กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานและ เงินเฟ้อ

ปิดฉากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจกลุ่มความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18 - 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลางคำถามจากประชาชนว่าไทยได้ประโยชน์อะไร และคุ้มค่าไหม กับงบประมาณและสรรพกำลังที่ลงไป

เมื่อมองผ่านเลนส์ “การทูต” จะเห็นสถานการณ์ที่แท้จริงของการประชุมเอเปคว่า มีปัจจัยแทรกซ้อนมากมายพร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แม้ฉากหน้าการเดินทางเยือนไทยของผู้นำกับผู้แทนจาก 20 เขตเศรษฐกิจ และแขกพิเศษเอเปคอีก 2 เขตเศรษฐกิจ ที่ปรากฏตัวเพื่อเข้าร่วมประชุมแบบพบหน้ากันเต็มรูปแบบ (physicalmeeting) เป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครหลังชะงักไป 2 ปีเพราะมีการระบาดของโรคโควิด-19 และดูเหมือนทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ 

การประชุมเอเปคครั้งนี้ ได้มีการพูดถึง “สถานการณ์ความมั่นคง” ในภูมิภาค เช่นเดียวกับครั้งๆก่อน หรือในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อ 19 ปีที่แล้วก็กล่าวถึงการก่อการร้ายที่รุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆที่มีการใช้จรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่ายิง ซึ่งเขย่าความมั่นคงและส่งทอดต่อเศรษฐกิจโลก แม้ว่าเวทีนี้จะเน้นเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงอีก

แล้วก็เป็นตามคาดที่ประชุมผู้นำเอเปคมีการแตะเรื่อง "สงครามยูเครน" โดยฝั่งรัสเซียก็เตรียมพร้อมมาอย่างดีหากอีกฝ่ายจุดติดประเด็นนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามที่มอสโกคิดไว้ล่วงหน้า เพราะมีระบุในถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ปี ค.ศ.2022 และปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี ค.ศ.2022

ที่ประชุมได้ถกเถียงกันในถ้อยคำที่ระบุในเอกสารผลลัพธ์การประชุมเอเปคดังกล่าว ที่มีคำว่า “คว่ำบาตร” (sanction) จะทำให้รัสเซียไม่ยอมรับอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาได้ยืนยันว่าเป็น “ปฏิบัติการทางทหาร” ทำให้ไทยพยายามอย่างหนักเพื่อลดแรงกดดันจากทุกฝ่าย และเห็นว่าเอกสารผลลัพธ์การประชุมเอเปคจะต้องเป็นประโยชน์มากกว่าสร้างความแตกแยก แตกต่าง และโดดเดี่ยว ท่ามกลางความตั้งใจเริ่มแรกในการสร้าง "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว" ของเอเปค เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

สะท้อนต้นเหตุ ซ้ำเติม ศก.

คณะทำงานเอเปคภายใต้กระทรวงการต่างประเทศได้พยายามพูดคุยกับทุกฝ่ายและใช้ "การทูตทางลับ" และประสานงานกันอย่างหนักกระทั่งประสบความสำเร็จ ตามที่ข้อความระบุในพารากราฟที่ 3 ของปฏิญญาฉบับนี้ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในภูมิภาคที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค และโลก ที่ระบุว่า

"ในปีนี้ เราได้พบเจอกับสงครามในยูเครน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแรง เอเปคมีการหารือในประเด็นนี้ เราได้ตอกย้ำจุดยืนที่ประจักษ์แล้วในเวทีอื่นๆ รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) การประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติที่ได้มีการพูดถึงมติยูเอ็น no. ES-11/1 วันที่ 2 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นที่ยอมรับและนำมาใช้ โดยคะแนนเสียงโหวตข้างมาก 141 ที่สนับสนุน 5 เสียงคัดค้าน 35 งดออกเสียง และอีก 12 เสียงไม่เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมมีทัศนะและประเมินที่ต่างกันไปเกี่ยวกับสถานการณ์และท่าทีต่อการ “คว่ำบาตร” ต่อรัสเซีย บรรดาผู้นำก็ตระหนักดีว่า เอเปคไม่ใช่เป็นเวทีที่แก้ปัญหาความมั่นคง แต่เราก็รับทราบว่า ประเด็นด้านความมั่นคงนั้น ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก" ในปฏิญญาผู้นำเอเปค ปี ค.ศ. 2022 ระบุ

ถึงเวลาหยุดความขัดแย้งรัส-ยูเครน

หรือหากพูดภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายๆ ในประโยคนี้เกี่ยวกับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน นั่นหมายความเอเปคมองเห็นว่าสงครามยูเครน และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค และโลกให้ย่ำแย่ลง ตลอดจนเกิดภาวะการขาดแคลนซัพพลายเชน กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน เงินเฟ้อที่รุมเร้าอยู่ก่อนแล้ว 

"แบงค็อกโกลส์" จุดสตาร์ท ศก.สีเขียวเอเปค

การทูตอาจไม่เห็นผลความสำเร็จทันที จริงแล้วเกิดหลังจากนั้น แม้คนอาจไม่โยงว่าความสำเร็จนี้มาจากการเริ่มคุยกันตอนนี้ก็ได้แต่เมื่อผู้นำทุกคนเห็นพ้องกับนโยบายและกลับไปนำแนวคิดนี้เพื่อปฏิบัติในเขตเศรษฐกิจตนเอง เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมแท้ที่จริงก็นับเป็นความสำเร็จทางการทูตในระยะยาว เหมือนกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่มีความครอบคลุมกว้างมาก ทั้งในเรื่องกฎระเบียบ การสร้างขีดความสามารถ การเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจสีเขียวซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่บรรลุ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” จะเป็นแนวทางปฏิบัติ (cod of conduct) ให้แต่ละเขตเศรษฐกิจได้ต่อยอด

ขยายกลุ่มผู้ถือบัตรธุรกิจเอเปค หนุนปชช.เดินทาง

นอกจากนี้ ในเอกสารปฏิญญาผู้นำฯ ยังมีสาระสำคัญๆที่จะเป็นประโยชน์กับคนไทยและเอเชียแปซิฟิก ทั้งในเรื่องการอำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (APEC Safe Passage Taskforce) ที่จะขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัยและราบรื่นภายในภูมิภาค หลังเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงสำหรับแรงงานที่จำเป็น รวมถึงลูกเรือทางอากาศและทางทะเล ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือต่างๆ เช่น ความสามารถในการทำงานร่วมกัน ใบรับรองการฉีดวัคซีนและการรับรองบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card : ABTC) ตลอดจนการสนับสนุนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการค้าข้ามแดน และส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อย(MSMEs)

จุดเริ่มต้นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก

สิ่งสำคัญที่สุด ผู้นำเอเปคได้สนับสนุนการดำเนินการตามแผนงานนำไปสู่ "เขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก" หรือ FTAAP และรายงานต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคในปีต่อๆ ไป ขณะเดียวกัน ต้องเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเรากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก และเพิ่มการเจรจาระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงการ FTAAP Work 

ทั้งหมดนี้จะสร้างเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่คิดเป็นสัดส่วน 62% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (GDP) หรือ 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2583