วิเคราะห์ข่าวลือ "ดิสนีย์แลนด์" มาเลเซีย | กันต์ เอี่ยมอินทรา
การเมืองมาเลเซียที่ว่าร้อนแล้ว แต่ข่าวลือของการสร้าง Disneyland แห่งใหม่ในมะละกา มาเลเซียนั้นก็ร้อนพอ ๆ กัน
ข่าวลือการสร้าง Disneyland ที่ออกมาจากทางการท้องถิ่นของมะละกา เมืองมรดกโลกของมาเลเซียเรียกเสียงฮือฮาอย่างมากทั้งจากแฟนคลับสาวกดิสนีย์ แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันมาจากฝั่งดิสนีย์แต่อย่างใด ทำให้ผู้ติดตามอย่างใจจดใจจ่อต่างคาดเดากันว่า หรือข้อมูลข่าวนี้ “อาจจะไม่เป็นจริง”
จะน่าแปลกใจมากหากดิสนีย์เลือกมาเลเซียในการเปิดสวนสนุกแห่งที่ 4 ของเอเชียในนามของดิสนีย์ นอกเหนือไปจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และล่าสุดที่เซี่ยงไฮ้ของจีน เหตุผลเพราะในเชิงการตัวเลขการลงทุนและประมาณการรายได้แล้วนั้น น่าจะมีสถานที่อื่นที่น่าสนใจมากกว่ามะละกาของมาเลเซียอยู่มาก และหนึ่งในนั้นก็คือ กรุงเทพมหานครของเรานั่นเอง
การลงทุนเปิดสวนสนุกขนาดใหญ่แบบนั้นจำต้องศึกษากันให้ละเอียด และหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้การลงทุนนั้นดูน่าดึงดูดใจพอที่เสี่ยงลงทุนก่อสร้างนั่นคือ การประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อหักออกมาเป็นกำไร หากมีกำไรพอเหมาะกับค่าเสียโอกาส ก็สมควรลงทุน
ทีนี้ผมจะมาอธิบายว่า ทำไมกรุงเทพฯจึงเหมาะสมกว่ามะละกา อยู่หลายขุม
1. จำนวนลูกค้ากลุ่มเป้าหมายนั้นมากกว่า เรามีคนอาศัยอยู่ในกทม.ประมาณ 10 ล้านคน ไม่รวมนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยทุกปีที่ต้องแวะที่กรุงเทพฯอีกเกือบ 40 ล้านคน (หากวัดในปีก่อนโควิด) ขณะที่มะละกามีคนไม่ถึง 1 ล้าน และถึงแม้รวมเมืองหลวงอย่างกัวลาลัมเปอร์อีก 2 ล้าน และถึงแม้รวมนักท่องเที่ยวอีกว่า 25 ล้านคนต่อไป ยังไงก็เทียบกับกรุงเทพฯไม่ได้
2. ถึงแม้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยจะน้อยกว่าคนมาเลเซีย (ประมาณ 8,000 ดอลลาร์ต่อปีต่อหัว เทียบกับ 11,000 ดอลลาร์ต่อปีต่อหัว) แต่ก็ไม่สามารถบดบังจำนวนคนที่มากดังที่อธิบายในข้อ 1 ได้ และดิสนีย์เองก็เริ่มสร้างที่เซี่ยงไฮ้ในจีนเมื่อปี 2554 ซึ่งตอนนั้นคนจีนก็ไม่ได้มีเงินมาก (ประมาณ 6,000 ดอลลาร์ต่อหัวต่อปี) แต่จำนวนคนที่มากเป็นตัวกำหนดความน่าสนใจของการลงทุนมากกว่าเงินในกระเป๋า เพราะการกระจายรายได้ที่กระจุกตัวทำให้คนในเมืองใหญ่นั้นมีรายได้มากกว่าและยอมจ่ายกับประสบการณ์ใหม่ ๆ
3. กรุงเทพฯนั้นเป็นศูนย์กลางของประเทศไทยที่มีคนกว่า 70 ล้านคนไม่นับรวมเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่าและกัมพูชาที่ก็ยอมรับความเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมของกรุงเทพฯโดยนัย ขณะที่มะละกาหรือกัวลาลัมเปอร์นั้นเป็นศูนย์กลางของมาเลเซียฝั่งคาบสมุทรมลายูเท่านั้น เพราะมีสิงคโปร์เป็นอีกศูนย์กลางการค้า คมนาคมและความเจริญ
4. การสนับสนุนการลงทุนจากรัฐ โดยปกติการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การตั้งโรงงานข้ามชาติ การสร้างสวนสนุกเช่นนี้มักจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐ เพราะรัฐก็อยากดึงดูดนักท่องเที่ยว อยากให้มีการลงทุนเพื่อเป็นกลไกในการกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินในระบบ ดังนั้นรัฐจะออกนโยบายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น เรื่องของภาษี เรื่องของที่ดิน เป็นต้น ซึ่งรัฐไทยคงไม่ไร้สามารถพอที่จะปล่อยชิ้นปลามันไปโดยไม่ลงแข่งขันได้
5. ตัวชี้วัดในเชิงคุณภาพ เช่นความชอบของคนในประเทศต่อดิสนีย์ วัฒนธรรมการเที่ยวสวนสนุก นอกจากนี้แล้วการลงทุนจำต้องมีการประเมินปัจจัยและความเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ เรื่องของกฎหมาย เรื่องของแรงงาน เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของความมั่นคงของประเทศและการเมือง ซึ่งมองไปแล้วไทยกับมาเลเซียในขณะนี้ก็มีความไม่มั่นคงทางการเมืองเหมือนกัน ในแง่ของกฎหมาย แรงงานและสิ่งแวดล้อม ก็เชื่อว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ในทางสถิติ จึงสามารถพูดได้ว่ายังไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเชื่อว่าดิสนีย์จะสร้างที่มะละกาในเร็ว ๆ นี้