ญี่ปุ่นต้องการแรงงานข้ามชาติสูง ! ชี้แรงงานเวียดนามมากเป็นอันดับที่ 1

ญี่ปุ่นต้องการแรงงานข้ามชาติสูง ! ชี้แรงงานเวียดนามมากเป็นอันดับที่ 1

หลายบริษัทในญี่ปุ่นเริ่มมองหาพนักงานชาวต่างชาติต่างชาติมากขึ้น เช่นเดียวกับบริษัท เกียวริซึ อิเล็กทริก ที่ขาดแคลนแรงงาน ซึ่งญี่ปุ่นเผยว่า แรงงานเวียดนามนั้นมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 พร้อมทำทุกทางเพื่อยื้อแรงงานให้ทำงานนานหลายสิบปี !

สำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชียรายงาน (2 พ.ย.)ว่า โนบุยูกิ นิชิ ประธานบริษัทเกียวริซึ กล่าวว่า การมีพนักงานต่างชาติไม่เพียงแค่บรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์สร้างสภาพแวดล้อมต่างประเทศ เพื่อให้พนักงานชาวญี่ปุ่นได้สัมผัสกับขนบธรรมเนียมอื่น และหวังว่าจะขายสินค้าในต่างประเทศได้มากขึ้น

ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังเปิดต้อนรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว มีชาวต่างชาติมากกว่า 2.8 ล้านคน ซึ่งมากกว่าช่วงทศวรรษ 1990 เป็นสองเท่า และปริมาณแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นได้เพิ่มเป็นสามเท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาด้วย

เปิดใจชาวอินโดฯ อยากทำงานญี่ปุ่นต่อ

คาเด็ก ยุด ประสาธ ชาวอินโดนีเซียจากเกาะสุมาตรา วัย 31 ปี เคยฝึกงานในญี่ปุ่นเมื่อปี 2555 และทำงานฝ่ายผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจังหวัดอิชิคาวะเป็นเวลาสามปี จากนั้นกลับประเทศไปทำงานด้านอุตสาหกรรมไอที และตัดสินใจอยากกลับไปทำงานที่ญี่ปุ่นอีก 

โดยเมื่อปี 2564 บริษัทเกียวริซึได้จ้างเขาเข้ามาทำงาน และดูแลโครงการต่าง ๆ ของบริษัทที่ให้บริการแก้ไขปัญหาระบบอัตโนมัติในโรงงานลูกค้า ซึ่งประสาธเผยว่า อยากกลับมาเรียนรู้งานในฐานะพนักงานในญี่ปุ่น และมีแผนจะอยู่ยาว ไม่ใช่เพียงทำงาน แต่อยากมีครอบครัวที่นั่นเลย

ญี่ปุ่นยินดีต้อนรับแรงงานรุ่นใหม่จากเวียดนาม

ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่เข้าญี่ปุ่นเพื่อมาฝึกงานโครงการด้านเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งมีตั้งแต่ปี 2536 แล้ว และเป็นที่ทราบกันดีว่าชาวเวียดนามเข้าญี่ปุ่นผ่านโครงการฝึกงานต่าง ๆ เช่นกัน

ด้านเคอิจิ ทาเคอิ ประธานบริษัท โคโรนา โคเกียว เผยว่า เขาต้องการแรงงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะงานช่าง เนื่องจากแรงงานของบริษัทมีอายุมากขึ้นแล้ว และมีคนแนะนำให้เขาจ้างคนเวียดนาม ซึ่งเคอิจิยินดีต้อนรับแรงงานเวียดนามรุ่นใหม่ และคิดว่าการจ้างแรงงานหนุ่มสาวจากต่างประเทศได้ ถือป็นทรัพย์สินก้อนใหญ่ของบริษัท

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ต.ค. ปีก่อน ญี่ปุ่นมีแรงงานเวียดนาม 26% จากแรงงานต่างชาติทั้งหมด 1.7 ล้านคน ส่วนใหญ่เข้าญี่ปุ่นผ่านโครงการฝึกงานด้านเทคนิค อย่างไรก็ตาม การฝึกงานดังกล่าว คนเวียดนามต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 1 ล้านเยน หรือประมาณ 7,400 ดอลลาร์ ส่วนชาวอินโดนีเซียอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์ ดังนั้น แรงงานจึงเป็นหนี้ก่อนได้ทำงานเสียอีก

ข้อครหาของโครงการฝึกงานในญี่ปุ่น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคลิปวีดิโอเผยแพร่ในญี่ปุ่น เกี่ยวกับผู้ฝึกงานชาวเวียดนามในจังหวัดโอกายามา ถูกเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นกล่าวหาว่าเขาใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ไม่ดี แม้ผู้ฝึกอบรมไม่จำเป็นต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องก็ตาม

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นช่องทางให้บรรดาธุรกิจนำนักศึกษาฝึกงานจากประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาเรียนรู้ทักษาใหม่ ๆ และส่งกลับไปบ้านเกิด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกวิพากวิจารณ์ว่า เป็นโครงการนำเข้าแรงงานราคาถูกเพื่อให้เข้ามาทำงานฟาร์ม โรงงาน และธุรกิจอื่น ๆ ในญี่ปุ่น ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้โทษรัฐบาลที่เมินเฉยต่อเรื่องนี้

ตลาดแรงงานดูแลผู้สูงอายุยังขาดแคลน

โดยปัจจุบันกลุ่มชาวญี่ปุ่นอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากกว่า 36 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.9% ของประชากรทั้งหมด 

ซึ่งในปี 2563 อุตสาหกรรมนี้ขาดแคลนแรงงาน 130,000 คน และหากยังขาดแคลนต่อเนื่อง อาจมีความต้องการแรงงานสูงถึง 350,000 คน ในปี 2568

อย่างไรก็ตาม หญิงเวียดนามรายหนึ่งได้เข้าฝึกงานผ่านโครงการฝึกงานทางเทคนิคของญี่ปุ่น กับบริษัทซมโปแคร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยมีลูกจ้างประมาณ 23,000 คน โดยเธอถูกจ้างงานดูแลผู้สูงอายุในฐานะพนักงานฝึกหัดเท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาตดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะได้ก็ต่อเมื่อผ่านข้อสอบของประเทศญี่ปุ่น หญิงรายนี้จึงต้องอาศัยเรียนคอร์สต่าง ๆ ผ่านบริษัทนอกเวลาทำงาน

ญี่ปุ่นพยายามยื้อแรงงานต่างชาติ

ขณะที่หลายธุรกิจในญี่ปุ่นเปิดรับแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ก็พยายามรักษาแรงงานเหล่านั้นไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแรงงานเหล่านั้นไม่สนใจวัฒนธรรมการจ้างงานตลอดชีพของญี่ปุ่น

ทางมาซาอากิ มาเอะบาชิ ผู้บริหารบริษัทไอทีในมิชิมา ได้ค้นพบระบบใหม่หลังพนักงานชาวเวียดนามที่ทำงานได้ 2 ปี ลาออก โดยมาเอะบาชิมีนโยบายรักษาพนักงานไว้ด้วยการให้เงินสะสมเพื่อวัยเกษียณ ชูความสำคัญว่า ยิ่งทำงานกับบริษัทนานเท่าไร ยิ่งมีเงินสำรองก้อนใหญ่มากเท่านั้น เนื่องจากเขาต้องการให้ลูกจ้างทำงานกับบริษัท 10-20 ปี