ฟุตบอลเล่นได้ทุกเพศ ทำไมทีมชาติหญิงสหรัฐฯ ต้องเรียกร้องค่าตัวเท่าผู้ชาย?

ฟุตบอลเล่นได้ทุกเพศ ทำไมทีมชาติหญิงสหรัฐฯ ต้องเรียกร้องค่าตัวเท่าผู้ชาย?

ท่ามกลางกระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์เราได้เห็นนักเตะชายหลายทีมชาติออกมาดวลฝีเท้ากันอย่างเต็มที่ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าแม้จะเป็นนักเตะทีมชาติเหมือนกันแต่ผู้ชายกับผู้หญิงกลับได้ค่าตัวไม่เท่ากัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้กีฬายอดฮิตอย่าง “ฟุตบอล” ถือว่าได้รับความนิยมไปทั่วโลกทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าต้องจัดแข่งขันฟุตบอลโลกสำหรับผู้หญิงแยกออกมาในภายหลังเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงทั่วโลกสามารถเข้าถึงฟุตบอลได้ง่ายขึ้นและยึดกีฬาฟุตบอลเป็นอาชีพหลักได้เช่นเดียวกับผู้ชาย 

ดูจากตรงนี้ก็เหมือนว่าทุกอย่างจะดูมีความเท่าเทียมแต่ความจริงแล้วเงินเดือนหรือค่าตัวที่ผู้หญิงได้นั้นกลับน้อยกว่าผู้ชายแม้ว่าบางทีมชาติผู้หญิงจะคว้าแชมป์โลกมาได้ถึง 4 สมัย ในขณะที่ทีมชาติผู้ชายยังไม่เคยทำได้

ค่าตัวของนักเตะหญิงนั้นเป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่ผู้เล่นหลายคนเคยออกมาเรียงร้องให้ฟีฟ่าให้ความสนใจเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสายอาชีพ โดยในสหรัฐอเมริกาถึงกับมีนักเตะหญิงออกมายื่นฟ้องต่อคณะกรรมาธิการว่าด้วยโอกาสในการจ้างงานอย่างเท่าเทียม (Equal Employment Opportunity Commission) เมื่อปี 2016 ซึ่งนำมาถึงการเจรจาไกล่เกลี่ยกันนานหลายปีจนกระทั่งในปีนี้พวกเธอได้รับค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านดอลลาร์

เมื่อเอ่ยถึงทีมชาติสหรัฐอเมริกาอาจจะไม่ค่อยคุ้นกันเท่าไรนักในศึกฟุตบอลโลกเพราะเท่าที่ผ่านมาพวกเขายังไม่เคยได้ไปไกลกว่ารอบรองชนะเลิศ และไม่ได้ผ่านเข้ารอบลึกบ่อยเท่ากับทีมจากแอฟริกาหรือยุโรป แต่ทีมฟุตบอลหญิงสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาได้ถึง 4 สมัย

  • เมื่อนักเตะหญิงรวมตัวกันร้องขอความเท่าเทียมจากกีฬา

ย้อนไปเมื่อปี 2016 ตัวแทนนักเตะหญิงทีมชาติสหรัฐนำโดย นำโดย เมแกน ราปิโน และ อเล็กซ์ มอร์แกน ได้ยื่นคำร้องค่าแรงที่เท่าเทียมต่อคณะกรรมาธิการว่าด้วยโอกาสในการจ้างงานอย่างเท่าเทียม หลังจากนั้นได้มีการรวมตัวกันอีกครั้งในปี 2019 เพื่อกล่าวหาสมาคมฟุตบอลแห่งสหรัฐอเมริกาว่ามีการเลือกปฏิบัติทางเพศ จึงเรียกร้องให้สมาคมฯ จ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการเทียบเท่านักเตะชาย รวมถึงเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนการให้เงินเดือนและมีการประกันรายได้แทนการจ่ายค่าจ้างในแต่ละนัดที่ลงเล่น ซึ่งในแถลงการณ์นั้น เมแกน ได้ระบุไว้ว่า “นักเตะหญิงทุกคนภูมิใจที่ได้สวมเสื้อทีมชาติ และพร้อมรับผิดชอบบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ พวกเธอเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศในวงการกีฬาถือเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของนักฟุตบอลหญิงเช่นเดียวกัน”

แม้การเคลื่อนไหวของพวกเธอในครั้งนั้นจะสามารถส่งเสียงไปถึงผู้ชม โดยเมื่อครั้งทีมชาติหญิงสหรัฐฯ สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เป็นสมัยที่สอง แฟนคลับและผู้ชมในสนามที่บินตามไปให้กำลังใจถึงฝรั่งเศสได้ตะโกนว่า “Equal Pay!” หรือ จ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียม หลังนักเตะหญิงคว้าแชมป์ได้ 2 สมัยซ้อนเมื่อปี 2019

การต่อสู้ของแข่งสาวชาวมะกันยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่านอกจากค่าเหนื่อยแล้วยังควรปรับให้สวัสดิการต่างๆ ที่นักเตะต้องมีความเท่าเทียมกัน เช่น โอกาสเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ เงินสนับสนุนและโฆษณาการแข่งขันของฟุตบอลหญิง นอกจากนี้ยังกดดันให้จ่ายเงินชดเชยย้อนหลัง หลังจากการต่อสู้ทางกฏหมายที่ใช้เวลานานจนส่งผลกระทบต่อการซ้อมอีกด้วย จนเมื่อเดือน ธ.ค. 2020 ทั้งคู่บรรลุข้อตกลงในส่วนของเครื่องบินขนส่งนักกีฬา และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

สุดท้ายแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมานักเตะหญิงสหรัฐฯ ก็บรรลุข้อตกลงครั้งสำคัญกับสมาพันธ์ฟุตบอลสหรัฐฯ (USSF) ซึ่งในข้อตกลงระบุว่าทีมฟุตบอลหญิงจะมีรายได้เพิ่มรวมแล้ว 24 ล้านดอลลาร์ บวกกันเงินโบนัส

แม้จะได้รับค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นแต่จากรายงานปีล่าสุดของสมาคมฟุตบอล (The Football Association-FA) พบว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของนักเตะหญิงยังห่างจากค่าเฉลี่ยนักเตะชายอยู่ถึงร้อยละ 14

  • ปัญหาการเลือกปฏิบัติในทีมนักกีฬาหญิง

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะตกลงในเรื่องของสวัสดิการได้บางส่วน แต่ปัญหาของนักเตะหญิงยังไม่ได้จบเท่านี้ เมื่อมีการเลือกปฏิบัติระหว่างคนที่มีชื่อเสียงและคนในทีมที่ไม่ได้โดดเด่นเท่าไรนัก อดีตนักเตะหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ชื่อดังอย่าง ​​คาร์ลี ลอยด์ ออกมาเปิดเผยผ่านพอร์ดแคสว่า การเป็นนักฟุตบอลทีมชาตินั้นคือเรื่องที่กดดันเป็นอย่างมาก แม้ว่าเธอจะภูมิใจทุกครั้งที่สวมเสื้อทีมชาติ แต่ถ้าครั้งไหนที่ทีมแพ้ก็จะมีปัญหาตามมาทันที เธอยอมรับว่าการที่อยู่ในวงการฟุตบอลนานถึง 20 ปี เป็นเพราะเธอรักฟุตบอลมากแม้ว่าเธอจะเกลียดการเมืองภายในทีมมากก็ตาม

เพราะภาพที่ถูกนำเสนอออกไปทุกครั้งทีมนักฟุตบอลหญิงเหมือนจะรักใคร่กลมเกลียวกัน แต่ความจริงแล้วทุกคนต่างมีอีโก้และมีเป้าหมายเพื่อคว้าชัยชนะในแต่ละการแข่งขันเท่านั้น รวมถึงผู้บริหารมักจะเลือกปฏิบัติกับนักเตะที่มีความโด่งดังหรือเป็นดาวเด่นของทีมมากกว่านักเตะคนอื่นๆ แม้ว่าจะมีการเรียกร้องค่าตัวให้นักเตะหญิงเท่าเทียมกับนักเตะชาย แต่สุดท้ายการเลือกปฏิบัติยังคงอยู่ ส่งผลให้นักเตะหลายคนต้องเผชิญปัญหาโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้าที่ตามมาจากความกดดัน

และนี่ไม่ใช่การออกมาพูดถึงเรื่องหลังบ้านทีมชาติครั้งแรกของนักเตะหญิง แต่ก่อนหน้านี้ โฮป โซโล อดีตผู้รักษาประตูหญิงของทีมสหรัฐฯ ก็เคยออกมาอ้างกว่า เซปป์ แบลตเตอร์ อดีตประธานประธานฟีฟ่า เคยลวนลามเธอสมัยยังเป็นนักเตะ

ฟุตบอลเป็นเพียงแค่หนึ่งในกีฬาหลายคนอาจเคยคิดว่าไม่ใช่ที่ของผู้หญิงและไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีการแข่งขันกันเหมือนกับทีมผู้ชาย เช่น ฟุตบอลโลก และมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม แต่ในโลกของกีฬายังมีอีกหลายชนิดที่มีผู้เล่นเป็นผู้หญิงและสามารถทำผลงานได้โดดเด่นแต่ก็หนีไม่พ้นที่จะประสบปัญหา “ความไม่เท่าเทียม” เช่น อัลลิสัน เฟลิกซ์ นักกรีฑาหญิงสหรัฐฯ ที่ออกมาเปิดเผยผ่าน The New York Times ว่าเธอได้รับเงินจากผู้สนับสนุนน้อยลงเมื่อประกาศว่าตั้งครรภ์

อ้างอิงข้อมูล : Head Topics, VOA TH, NPR และ FA