FTA ไทย - สหภาพยุโรปรอบใหม่ ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

FTA ไทย - สหภาพยุโรปรอบใหม่  ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

สหภาพยุโรป (อียู) ต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ในการทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย ซึ่งมีการพูดถึงข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานด้านแรงงาน จะเป็นความท้าทายการเจรจาเอฟทีเอไทย - อียู รอบใหม่

หนึ่งในความสำคัญของกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-สหภาพยุโรป (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ซึ่ง"ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับ"โฮเซป บอร์เรล" รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และผู้แทนระดับสูงของอียูด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง เป็นผู้ลงนามความตกลงนี้ที่ใช้เวลาในการเจรจานานถึง 18 ปี 

PCA ถือเป็นร่มใหญ่ครอบคลุมการขยายความร่วมมือทุกระดับในระยะยาว โดยเฉพาะปรับปรุงกฎระเบียบของไทยให้ทันสมัยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสู่ "การเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย-อียู รอบใหม่"

อสิ ม้ามณี” อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า PCA จะเป็นส่วนสำคัญจะเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างไทยกับอียู นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การยกระดับการบริหารจัดการในสาขาต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบของไทยให้ทันสมัยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่ “การเปิดการเจรจา FTA ไทย-อียู” รอบใหม่ และการมีระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

“ในบริบทปัจจุบันของการแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจในภูมิภาค ไทยและอียูสามารถเป็นหุ้นส่วนและทางเลือกทางนโยบายต่างประเทศของกันและกัน PCA จะเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างกันได้ในอนาคต” อสิ กล่าวพร้อมเสริมว่า ในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ไทยหมายถึงนี้ ไทยต้องการเพิ่มข้อริเริ่มร่วมความเป็นหุ้นส่วน หรือความตกลงเฉพาะด้าน ในประเด็นความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นจากการดำเนินการตาม PCA 

 

FTA ไทย - สหภาพยุโรปรอบใหม่  ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า เราเล็งไปที่การมี FTA เป็นอันดับแรก แต่เราก็พร้อมที่จะต่อยอด ความร่วมมือในการเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจ BCG กับแผนปฏิรูปยุโรปสีเขียว การประมงที่ยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดการทำลายป่าไม้ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย 

อธิบดีกรมยุโรป ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่รอการเปิดเจรจา FTA กับอียูรอบใหม่นี้ ไทยจะผลักดันให้อียูเปิดตลาดและสิทธิพิเศษทางด้านภาษี กับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากไทยก่อน รวมถึงจะเชิญชวนให้อียู ซึ่งกำลังมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ให้เพิ่มการลงทุนในไทย

เดวิด เดลี” เอกอัครราชทูตและคณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทย กล่าวว่า กรอบความตกลง PCA และการเจรจา FTA ไทย - อียู มีความสำคัญมาก ที่ผ่านมาสองฝ่ายมีความตั้งใจที่ดีต่อการเจรจาทั้งสองความตกลงนี้ควบคู่ไปด้วยกัน และเมื่อพูดถึงเอฟทีเอ ทำให้เรามองเห็นเป้าหมายการค้าร่วมกันที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 

 

FTA ไทย - สหภาพยุโรปรอบใหม่  ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

แม้การเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-อียู หยุดชะงักไปนานกว่า 6 ปี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2557 ดูเหมือนตอนนี้จะมีความหวังมากขึ้น เมื่ออียูสัญญาณขานรับการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา

เดลี กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอของอียูมีความยากแตกต่างจากอดีต เพราะปัจจุบัน มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอียูต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ในการทำความตกลงการค้าเสรีของไทย ซึ่งมีการพูดถึงข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Trade and Sustainable Development) ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานด้านแรงงาน 

ปัจจุบัน  อียูลงนามข้อตกลงเอฟทีเอกับเวียดนามและสิงคโปร์แล้ว และระหว่างนี้ อียูกำลังเจรจากับอินโดนีเซีย ส่วนเอฟทีเออียูกับไทยอยู่ในกระบวนการกลับมาเจรจาใหม่ เช่นเดียวเอฟทีเออียูกับมาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ทูตเดลี กล่าวด้วยว่า ไทยต้องแน่ใจว่า สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายต่อข้อตกลงเอฟทีเอดังกล่าว และต้องเป็นที่ยอมรับของสาธารณะด้วย จึงเชื่อว่า จะทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายเจรจากันอย่างหนักทั้งที่กรุงเทพมหานคร และกรุงบรัสเซลส์ เพื่อให้เกิดความคืบหน้าที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมุ่งให้ชาวไทยและอียูได้ประโยชน์แท้จริง  รวมทั้งฟื้นเศรษฐกิจหลังเผชิญโควิด-19ได้ด้วย

 

FTA ไทย - สหภาพยุโรปรอบใหม่  ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

      ในการฟื้นการเจรจาความตกลงเอฟทีเอไทย-อียู กระทรวงการต่างประเทศได้ทำการศึกษาและตั้งข้อสังเกตการเจรจาความตกลง FTA ระหว่างอียูกับเวียดนามและสิงคโปร์ พบว่า เนื้อหาการเจรจามีรายละเอียดและครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเจรจาใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้น รวมทั้งอาจเพิ่มแรงกดดันให้ไทยต้องยอมรับข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของอียู ทั้งในเรื่องการเปิดตลาดยา รถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานอียูที่มีความเข้มงวดมากที่สุดมาตรฐานหนึ่งของโลก

การเจรจายังรวมถึงเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นผลประโยชน์สำคัญของอียู รวมทั้งกฎระเบียบด้านการแข่งขันทางการค้า การเข้าสู่ตลาด การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การระงับข้อพิพาทในการลงทุนระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ 

 ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจไทยและเป็นต้นทุนของการทำธุรกิจ อาจส่งผลในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางอียูต้องการผลักดันในเรื่องของการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน คือการเข้าถึงตลาดที่อียูมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะสาขาโทรคมนาคม การเงิน และการขนส่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าในตลาดที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเหล่านี้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลที่ดีจากภาครัฐ

 

FTA ไทย - สหภาพยุโรปรอบใหม่  ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

มารู้จัก PCA :

การลงนาม PCA ไทย-อียู จะช่วยยกระดับความร่วมมือไทย-อียู ให้ใกล้ชิด เข้มข้น และเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้ง สร้างกลไกการหารือรอบด้านระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเด็นที่สนใจร่วมกัน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อไทย ดังนี้
1.เพิ่มความสามารถการแข่งขัน ด้านเศรษฐกิจของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเปิดเจรจา FTA ไทย-EU รอบใหม่
2.เพิ่มการถ่ายทอดองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจาก EU และการเข้าถึงเงินทุนวิจัยและโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถต่าง ๆ ของ EU
3.โอกาสให้ไทยได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านที่ไทยเชี่ยวชาญ เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า
4.หุ้นส่วนที่ใกล้ชิด และไว้ใจได้ของ EU ผ่านการยึดถือค่านิยมที่เป็นสากลร่วมกัน
5.PCA นำไปปฏิบัติจริง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และไทยมุ่งที่จะให้การดำเนินการตามร่างกรอบความตกลงนี้เพื่อให้เป็นก้าวแรกของการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อียู ไปสู่ความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างกันต่อไป

กรอบความตกลง  PCA ประกอบด้วย 64 ข้อ ส่วนอารัมภบท และส่วนปฏิญญาร่วม ครอบคลุมความร่วมมือไทย-สหภาพยุโรป ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นแผนงานที่กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ มุ่งเพิ่มพูนกรอบการหารือและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างกัน โดยสองฝ่ายสามารถร่วมกันพัฒนาแผนงานดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป