นักวิจัยไขออกแล้ว ! 'กบแก้ว' ตัวใสเพราะเก็บเลือดไว้ในตับ !
นักวิทยาศาสตร์พบว่า 'กบแก้ว' ที่เปลี่ยนตัวเองให้โปร่งใสขณะนอนหลับ อาจมีเงื่อนงำเกี่ยวกับความเข้าใจในการแข็งตัวของเลือดมนุษย์
สำนักข่าวบีบีซีเปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์รู้จักกบแก้วมานานแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่ากบแก้วทำให้ร่างกายตัวเองโปร่งใสได้อย่างไร
ขณะนี้การวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ ค้นพบว่า กบสามารถรวมเลือดในร่างกายได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากลิ่มเลือด
ซึ่งการค้นพบนี้อาจทำให้การแพทย์เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดที่เป็นอันตราย หรือโรคร้ายแรงที่พบบ่อยครั้งนั้นเกิดความเข้าใจได้ดีขึ้น
กบแก้ว มีขนาดประมาณมาร์ชแมลโลว์ และใช้เวลาทั้งวันไปกับการนอนหลับบนใบไม้สีเขียวสดใสในเขตร้อน เพื่อหลบหนีความสนใจของสัตว์นักล่า สิ่งมีชีวิตชนิดนี้เปลี่ยนร่างกายตนเองให้โปร่งใส ปลอมตัวกลมกลืนไปกับใบไม้
เจสซี เดเลีย นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่า “ถ้าคุณพลิกตัวกบดู คุณจะสามารถเห็นหัวใจกบกำลังเต้น คุณสามารถมองผ่านผิวหนังและเห็นกล้ามเนื้อได้ ร่างกายส่วนใหญ่นั้นโปร่งใสมาก”
นักวิจัยเดเลียและคาร์ลอส ทาโบอาดา จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก วัดความทึบแสงของกบแก้วโดยการฉายแสงความยาวคลื่นต่าง ๆ ผ่านตัวกบขณะตื่นและหลับ และพบว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้รวมเลือดเข้าไปในตับ
“กบแก้วเก็บเม็ดเลือดแดงส่วนใหญ่ไว้ในตับ ดังนั้น เม็ดเลือดแดงจึงถูกกรองจากพลาสมา กบยังคงหมุนเวียนพลาสมา แต่ไม่ทำให้เกิดลิ่มเลือดก้อนใหญ่” เดเลียอธิบาย
เม็ดเลือดแดงของกบ 89% เก็บรวมกันในตับ จนใหญ่เป็นสองเท่า และทำให้ตัวกบโปร่งใส ในตอนกลางคืน เมื่อกบตื่นเพื่อออกล่าหรือผสมพันธุ์ กบจะปล่อยเซลล์เม็ดเลือดแดงออกมาไหลเวียนอีกครั้งและตับจะลดขนาดลงเป็นปกติ
ทาโบอาดา อธิบายว่า กบสามารถทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อนได้ ถ้าจำเป็น เช่น เมื่อกบได้รับบาดเจ็บ ซึ่งความสามารถเลือกให้เลือดจับตัวเป็นกลุ่มหรือเป็นก้อน ถือเป็น 'พลังวิเศษ' ของกบแก้ว และอาจเปิดประตูสู่ความเข้าใจได้ดีขึ้นเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดโดยทั่วไป
ทั้งนี้ การรวมตัวของเลือดในสัตว์ส่วนใหญ่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวในมนุษย์
อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนความรู้สู่การประยุกต์ใช้จริงในการแพทย์ของมนุษย์อาจใช้เวลาหลายสิบปี