คณะแพทย์ มช. ก้าวสู่ รพ.ดิจิทัล ใช้การแพทย์ทางไกล เชื่อมบริการภาคเหนือ

คณะแพทย์ มช. ก้าวสู่ รพ.ดิจิทัล ใช้การแพทย์ทางไกล เชื่อมบริการภาคเหนือ

คณะแพทย์ มช. เผย ทิศทางปี 66 ก้าวสู่ รพ.ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เตรียมเปิดศูนย์การแพทย์ทางไกลเชื่อมรพ.ในภาคเหนือ ขยายองค์ความรู้สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต "CMEx Lifelong Learning Center" พร้อมให้บริการผู้สูงอายุแบบครบวงจร รับสังคมสูงวัย

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข่าว ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะแพทยศาสตร์และทิศทางการทำงานในปี 2566 เพื่อเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบทั้งในเรื่องการบริการการศึกษาและการวิจัย รวมถึงเปิดศูนย์บริการการแพทย์ทางไกล เชื่อม 20 รพ. และการขยายองค์ความรู้ไปยังแพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการอบรมที่ศูนย์ LifeLong Learning Center และการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร

 

โดยมี ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.เป็นประธานในพิธีเปิด การแถลงข่าว พร้อมด้วย ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ , ผศ.นพ. กสิสินกลั่นกลิ่น รองผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ , รศ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์และ ผศ.พญ. พุดตาน วงศ์ตรีรัตนชัย รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ร่วมแถลง  โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์หัวหน้าฝ่าย และหัวหน้างาน พร้อมสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟัง

 

นพ.บรรณกิจ กล่าวถึง การก้าวสู่ Digital Faculty  การเปลี่ยน รพ.เป็นระบบดิจิตอล ว่า เป็นการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ความปลอดภัยในการดูแลรักษาผู้ป่วยและประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานและการให้บริการในด้านต่างๆ

 

 

คณะแพทยศาสตร์ มช. ยังเพิ่มความสะดวกสบายและการเข้าถึงการรักษาให้มากยิ่งขึ้นผ่านระบบดิจิทัลที่ทางคณะแพทยศาสตร์ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล Personal Health Record :PHR และระบบติดตามสุขภาพ เช่น ดูระดับไขมันในเลือด ,โครงการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล (Health Information Exchange  ) จะเพิ่มความสะดวก ในกรณีที่คนไข้ของรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เกิดเจ็บป่วยและต้องเข้าโรงพยาบาลในพื้นที่อื่น ระบบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างรพ. จะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมถึงโครงการพัฒนาระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Record :EMR) เป็นต้น 

 

ขณะเดียวกันยังเพิ่มประสิทธิภาพ ในระบบส่งยาทางไปรษณีย์พร้อมระบบติดตาม ( Suandok Drug delivery &Tracking System) และโครงการพัฒนาระบบรับยาต่อเนื่องแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Refill) โดยคนไข้ไม่ต้องมารพ. แต่สามารถรับยาผ่านระบบฯได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย  

 

โควิด ทำให้คณะแพทย์ เกิดโอกาสมากมายในการพัฒนาโครงการเหล่านี้และเร่งเวลาให้เร็วขึ้น ในต้นปีหน้า ทางคณะแพทยศาสตร์จะเปิดศูนย์บริการการแพทย์ทางไกลหรือ Multidisciplinary Telemedicine Center  ที่เชื่อมกับ 20 รพ.ในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ นอกจากการปรึกษาหารือด้านการแพทย์แล้ว ศูนย์ฯ นี้จะปรึกษาทั้งด้านด้านเภสัชวิทยา แล็บ และเอกซเรย์ เป็นต้น

 

สำหรับโครงการแพทย์ทางไกล ( Telemedicine) เริ่มนำร่องที่ โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นรพ.ที่ตั้งในพื้นที่ห่างไกล เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่าน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์แพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่กับแพทย์โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เช่น ผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบที่ได้รับการผ่าตัดที่ รพ.มหาราช แล้วได้รับการรักษาต่อเนื่องที่ รพ.เทพรัตนเวชชานุกูล โดยคณะแพทย์ทั้ง 2 โรงพยาบาลสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล วินิจฉัยติดตามอาการ การรักษาและประหยัดเวลาในการเดินทาง และในต้นปีหน้าจะขยายไปยัง 20 รพ.ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และรพ.ศูนย์เชียงราย , รพ.ศูนย์ลำปาง , รพ. น่าน ,รพ.ศรีสังวาล (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น

 

ด้าน รศ.พญ. อรินทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในหน่วยหัวใจของรพ.มหาราช มีการ Consult มาระยะหนึ่งแล้ว กับ รพ.ในภาคภาคเหนือตอนบน โดยทางรพ.จะส่งภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  และก็จะได้รับconsultจากแพทย์ของหน่วยหัวใจ หลังจากนั้นจะร่วมกันวางแผน การรักษา หรือ ถ้าต้องส่งตัว ก็จะวางแผนว่าจะส่งด้วยรถหรือเฮลิคอปเตอร์ โดยทางเราจะเปิดห้องสวนหัวใจรอ และสิ่งที่จะเกิดต่อไปคือระยะยาว เมื่อส่งคนไข้กลับไปแล้ว บางทีคนไข้อยากเจอหมอคนเดิม เราก็ใช้วิธีตรวจและพูดคุยกับคนไข้ผ่าน Telemedicine การสื่อสารก็ยังมีอยู่และเขาจะเจอแพทย์ที่ต้นทาง  

 

นพ.บรรณกิจ กล่าวต่อว่า ในกลางปี 66 ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จะมีเครื่องสวนหัวใจ ที่พร้อมจะสวนหัวใจได้ทันที  และห้องฉุกเฉินจะถูกปรับ ให้เป็น Modern Digital Emergency Department ซึ่งจะเป็นห้องฉุกเฉินที่ครบวงจร รูปแบบทันสมัยขึ้นตามมาตรฐานสากลในปัจจุบันด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน และจะเป็นห้องฉุกเฉินที่เป็น One Stop Service Digital ดีระดับต้นๆของประเทศ

 

ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต "CMEx Lifelong Learning Center จากการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานสู่การอบรมแพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

รศ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ กล่าวว่าศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต"CMEx Lifelong Learning Center  จัดตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปหรือหน่วยต่างๆที่ต้องการฝึกอบรมด้านการแพทย์ และการดูแลสุขภาพตลอดจนการพัฒนาศักยภาพและการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์,การฝึกอบรมการใช้เครื่องมือแพทย์เฉพาะทาง

 

ที่ผ่านมา มีอบรมในการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป Basic life support,การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงที่จุดให้การรักษา หรือ Point –of- Care Cardiac Ultrasound สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และ การอบรมการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ Healthy aging สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ความรู้ในการวางแผนการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาว

 

สำหรับการอบรมการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป มีประชาชนและนักเรียนให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก โดยทุกคนจะได้ใบรับรองจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจ ว่าผ่านการอบรมสามารถที่จะช่วยคนอื่นได้ ตั้งแต่ศูนย์เปิดอบรมก็มีประชาชนจำนวนกว่า 1,000 คนที่มาอบรม

 

“เรามีความตั้งใจที่จะให้คนในประเทศโดยเฉพาะคนในเชียงใหม่ มีความรู้ที่จะดูแลตัวเอง และมีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ และจะอุ่นใจแค่ไหนเมื่อคุณรู้ว่าคนที่อยู่ใกล้ๆสามารถช่วยชีวิตคุณได้ “ พญ.อรินทยา กล่าว

 

หลักสูตรนานาชาติ :อบรมการใช้เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงที่จุดให้การรักษา สู่แพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดกลายเป้นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย โยมีผู้ป่วยกว่า 350,000 คนเสียชีวิตกว่า 6 หมื่นรายต่อปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

 

“ถ้าอยู่ท่านแม่แตง หรือ แม่แจ่ม แล้วเกิดมีอาการเจ็บหน้าอก ท่านอาจอยากรู้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า แต่หมอหัวใจอยู่ในเมือง และถึงแม้โรงพยาบาลจะมีเครื่องมือ อัลตราซาวน์ แต่แพทย์ทั่วไปใช้ไม่เป็น ดังนั้นทางศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงจัดอบรมแพทย์ทั่วไปให้ใช้เครื่องตรวจหัวใจในเบื้องต้นได้ก่อนที่จะส่งต่อยังแพทย์โรคหัวใจ" รศ.พญ.อรินทยากล่าว

 

รศ.พญ.อรินทยา กล่าวต่อว่า การอบรมเรามุ่งเน้นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับแพทย์ทั่วไปเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ ตรวจวินิจฉัยแบบคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหรือเครื่องอัลตราซาวน์ (Ultrasound) สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือมีขนาดเล็กลงและหลายโรงพยาบาลก็มีเครื่องมือนี้แต่ แพทย์ทั่วไป (ที่ไม่ใช่แพทย์หัวใจ) ยังขาดทักษะและความชำนาญในการใช้เครื่องดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทางศูนย์ฯจึงเล็งเห็นความจำเป็นและเร่งกระจายองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถใช้เครื่องอัลตราซาน์ช่วยในการวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันท่วงที  

 

“เรา เปิดอบรมการใช้เครื่องการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงที่จุดให้การรักษา หรือ Point –of- Care Cardiac Ultrasound ให้แพทย์ทั่วไป มาแล้ว 5 รุ่นจำนวน 70-80 คน และในปี2566  จะขยายการอบรมเป็นหลักสูตรนานาชาติที่ให้ความรู้สำหรับแพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะมีการอบรมในเดือนกุมภาพันธ์ นี้ ” รศ.พญ.อรินทยา กล่าว

 

GMC ดูแลผู้สูงอายุในภาคเหนือ แบบครบวงจร

 

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่อัตราการเกิดน้อยลง ประชากรวัยทำงานต้องดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็มีอายุยืนยาวมากขึ้น เนื่องจากการแพทย์ที่ทันสมัยและการดูแลเรื่องสุขภาพดังนั้นการให้การบริการทั้งทางการแพทย์  สิ่งอำนวยความสะดวก และการเตรียมตัว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรองรับสังคมสูงวัย

 

“ เราตั้งใจที่จะให้ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เชียงใหม่ หรือ GMC  เป็นศูนย์การดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร โดยรองรับผู้สูงอายุ ที่หากเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลัน มาที่ รพ.มหาราช หลังจากออกจาก รพ.มหาราช เพื่อเตรียมกลับบ้าน ก็จะมีการดูแลต่อเนื่องระยะกลางจาก ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และกรณีที่ต้องการการดูแลแบบอยู่อาศัย ศูนย์ Long Term Care ก็จะตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะฉะนั้น เราจะทำให้การดูแลผู้สูงอายุในเชียงใหม่ ในภาคเหนือ หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยครบวงจรมากขึ้น ” 

 

รศ.พญ.อรินทยา กล่าวต่อไปว่า ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เชียงใหม่ หรือ GMC ตอบโจทย์การดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรตั้งแต่การตรวจประเมินสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมตามความเสี่ยง เช่น ถ้าเป็นความดันก็จะตรวจโรคหัวใจ พร้อมดูแลเรื่องวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ รวมไปการดูแลคนไข้ระยะกลาง ก่อนกลับบ้าน  โดยมีการให้ความรู้ญาติและคนไข้ จากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักโภชนากร ทั้งเรื่องอาหาร ยา การเตรียมบ้านให้พร้อม และหลังจากกลับไปบ้านเราจะมีการเยี่ยมบ้าน โดยแพทย์พยาบาลที่พร้อม เจาะเลือดและวางแผนการรักษา  หากมีเหตุฉุกเฉินก็มีรถไปรับมาทำการรักษาได้ รวมถึงเรามี Telemedicine รองรับด้วย 

 

และในปี 2566 จะเปิดให้บริการ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว หรือ Long Term Care  สำหรับผู้สูงอายุ ที่ไม่ป่วยหนักและไม่สะดวกที่จะอยู่ที่บ้าน มีห้องพัก 26 ห้อง เป็นแบบซูพีเรีย จำนวน 20 ห้องและแบบดีลักซ์จำนวน 6 ห้อง ที่คนดูแลสามารถอยู่ด้วยได้โดยเป้ฯห้องที่เปิดเชื่อมถึงกัน

 

“ ถึงแม้ห้องพักเราไม่หรูหรา แบบเอกชน แต่เรามีการดูแลแบบสแตนดาร์ดโดยทีมแพทย์ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และ รพ.มหาราช ต่อเนื่องกันได้” รศ.พญ.อรินทยา กล่าว

 

ทั้งนี้ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจะเปิดให้บริการ 2 รูปแบบ คือ 

  • แบบพักระยะยาว (Long term care) 
  • พักแบบระยะสั้น (Day care)