ผู้นำโลกเมินเร่ง‘จีดีพี’โต หนุนปชช.อยู่ดี-กินดีแทน

ผู้นำโลกเมินเร่ง‘จีดีพี’โต หนุนปชช.อยู่ดี-กินดีแทน

ผู้นำโลกเมินเร่ง‘จีดีพี’โต หนุนปชช.อยู่ดี-กินดีแทน โดยเลขาฯยูเอ็น ระบุ เราต้องสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้สิ่งแวดล้อมและมองข้ามตัวเลขจีดีพี ในฐานะตัวชี้วัดความก้าวหน้าของมนุษย์และความเป็นอยู่ที่ดี

ประเทศที่มีผู้นำหญิงส่วนใหญ่ อย่างฟินแลนด์ สก็อตแลนด์ เวลส์ และนิวซีแลนด์ ที่เป็นสมาชิกกลุ่ม "Wellbeing Economy Governments" ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเน้นความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกันสำหรับผู้คนและโลกใบนี้ ภายในปี 2583  หมายความว่า แต่ละประเทศจะเลิกคำนึงถึงเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ที่เป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และแทนที่ด้วยการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนและให้การดำเนินชีวิตของประชาชนสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อม

"นิโคลา สเตอร์เจียน" ผู้นำหญิงของสกอตแลนด์ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า ตอนนี้โลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่เน้นแนวทางความเป็นอยู่ที่ดีของคนมากกว่าตัวเลขการเติบโตของจีดีพี

เมื่อสองสามเดือนก่อน นิวซีแลนด์ ประกาศรายงานความกินดีอยู่ดีแห่งชาติฉบับแรก ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจมาเน้นความเป็นอยู่ที่ดีเช่นกัน  ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เริ่มเรียกร้องให้ทุกประเทศกำหนดให้ความกินดีอยู่ดี เป็นหัวใจของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

ออสเตรเลีย แคนาดา และคอสตาริกา เป็นหนึ่งในประเทศที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มความร่วมมือดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ และผู้สนับสนุนเศรษฐกิจหลังการเติบโตเชื่อว่า ต้องใช้เวลานานกว่าที่หลายประเทศจะยอมรับนโยบายนี้

‘โดมินิก สตีเฟน’ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจอาวุโส กระทรวงการคลังนิวซีแลนด์ กล่าวถึงรายงานความกินดีอยู่ดีของประเทศว่า “เราอยากพิจารณาปัจจัยที่นอกเหนือจากตัวเลขจีดีพี แต่เราไม่มีตัวชี้วัดความกินดีอยู่ดี จึงจำเป็นต้องมองข้ามตัวชี้วัดและหลักฐานฐานต่าง ๆ ซึ่งรายงานดังกล่าว ช่วยให้เราทราบว่านิวซีแลนด์พัฒนาด้านใดได้ดี บกพร่องในด้านใด และความกินดีอยู่ดีสะท้อนถึงความแตกต่างของประชาชนอย่างไร”

แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมาสู่เศรษฐกิจที่เน้นความกินดี อยู่ดีเกิดขึ้นมานาน 50 ปีแล้ว หลังจากสมาคมแห่งโรม หรือคณะกรรมการร่างนโยบายนานาชาติ เผยแพร่หนังสือ ที่ชื่อว่า “Limits to Growth” เมื่อปี 2515 โดยหนังสือเล่มนี้เตือนว่า ทรัพยากรของโลกไม่สามารถสนับสนุนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและประชากรแบบทวีคูณได้ และเศรษฐกิจอาจล่มสลายก่อนสิ้นศตวรรษนี้ 

‘ซองดรีน ดิกสัน เดอเคลฟ’ ประธานร่วมของสมาคมแห่งโรม บอกว่า “หากนักวิจัยไม่ตระหนักถึงวิกฤติโลกตั้งแต่ 50 ปีก่อน ว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ตอนนี้คงถึงเวลาแล้ว เนื่องจากพวกเรากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต ซึ่งภาวะวิกฤต คือ วิกฤตกาลที่เกิดขึ้นในระบบสากลหลายแห่ง และกลายเป็นปัญหาพัวพัน สร้างอันตรายครั้งใหญ่ยิ่งกว่าวิกฤตต่างๆ รวมกัน"

ผู้นำโลกเมินเร่ง‘จีดีพี’โต หนุนปชช.อยู่ดี-กินดีแทน

“โลกเราไม่ได้แค่กำลังเจ็บป่วยจากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเจ็บป่วยจากการใช้ทรัพยากรมากเกินไป ขณะที่ประชากรก็เจ็บป่วยเพิ่มขึ้น และคนรุ่นใหม่มีรายได้ลดลงเรื่อย ๆ“ ดิกสัน เดอเคลฟ กล่าว ซึ่งเธอเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้นโยบายความเป็นอยู่ที่ดี 

ครั้งหนึ่ง"โรเบิร์ต ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี" เคยกล่าวว่า จีดีพีวัดทุกอย่าง ยกเว้น วัดความคุ้มค่าของชีวิต แต่นักวิจารณ์จีดีพี แย้งว่า ตัวชี้วัดนี้ถูกทำให้เข้าใจผิด เนื่องจากจีดีพีวัดด้านดีและด้านแย่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และย้ำว่าจีดีพีใช้ได้ดี 

3 เดือนก่อน ‘เคียร์ สตาร์เมอร์’ ผู้นำฝ่ายค้านพรรคแรงงาน ของอังกฤษ กล่าวถึงเศรษฐกิจของอังกฤษว่า อังกฤษต้องใช้ 3 อย่างในการแก้ไขสัญญาทางสังคมที่ร้าวรานว่า เศรษฐกิจต้องเติบโต เติบโต และเติบโต 

 แต่"แคทเธอรีน เทรเบ็ก" ผู้ร่วมก่อตั้ง Wellbeing Economy Alliance เครือข่ายวิชาการ ธุรกิจและการเคลื่อนไหวทางสังคม กล่าวว่า "เราขาดจินตนาการว่าเศรษฐกิจทำได้ดีกว่าการเติบโต" 

"ประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง มีความพร้อมหลายด้าน แต่มีความเหลื่อมล้ำมากในประเทศร่ำรวย ดังนั้น สิ่งที่ประเทศเหล่านั้นต้องทำคือ คิดหาแนวทางเกี่ยวกับการแบ่งปันและถนอมทรัพยากรไว้ให้ได้นานที่สุด" เทรเบ็กกล่าว

ทั้งนี้ การผลักดันให้มองข้ามจีดีพี เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการเรียกร้องให้หยุดใช้พลังงานและเชื้อเพลิงทั่วโลก 

"จูเลีย สไตน์เบอร์เกอร์" นักเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ มีความเห็นว่า “ในการลดก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ คุณต้องหยุดใช้เชื้อเพลิงและแทนที่ด้วยพลังงานทดแทน หรือแหล่งพลังงานปล่อยคาร์บอนต่ำหรือปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลานาน หากความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

เมื่อเดือน พ.ย. ตูวาลู ประเทศหมู่เกาะในแถบทะเลแปซิปิกใต้ เป็นประเทศแรกที่ใช้การประชุม COP27 เพื่อผลักดันสนธิสัญญาลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งรัฐสภายุโรป รัฐบาลวาติกัน และดับเบิลยูเอชโอ สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว  แต่มีเพียงกลุ่มประเทศเล็ก ๆ เพียงหยิบมือเดียวที่เห็นด้วย

‘อันโตนิโอ กูเตอร์เรส’ เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ได้ร่วมเรียกร้องให้จีดีพีมีบทบาทน้อยลง เนื่องจากตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ผลักดันผู้กำหนดนโยบายให้เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจสู่รูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ซ้ำ และซ่อมแซมวัสดุต่าง ๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานสินค้าให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และขับเคลื่อนโลก หลีกเลี่ยงการ ‘ซื้อ ใช้ ทิ้ง’

“เราต้องสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้สิ่งแวดล้อมและมองข้ามตัวเลขจีดีพี ในฐานะตัวชี้วัดความก้าวหน้าของมนุษย์และความเป็นอยู่ที่ดี อย่าลืมว่า เราทำลายป่า เราสร้างจีพีดี เราตกปลามากเกินไป เรากระตุ้นการเติบโตของจีดีพี แต่สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ จีดีพีไม่ใช่แนวทางการวัดความร่ำรวย” เลขาฯยูเอ็น กล่าว