"โลกร้อน-พืชผลเกษตรลด"ฉุดเกษตรกรกัมพูชาติดวังวนหนี้
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เผยรานงานล่าสุด ที่บ่งชี้ว่า การเกษตรในกัมพูชากำลังประสบปัญหาเพราะปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนและไฟป่า ทำให้เกษตรกรต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาใช้โดยนำที่ดินและอาชีพไปเป็นหลักประกัน
รายงานชิ้นนี้ จัดทำโดยนักวิจัยจากกลุ่มมหาลัยในประเทศอังกฤษ ใช้กัมพูชาเป็นกรณีศึกษา ทำให้พบว่าการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืมได้ง่ายทำให้หนี้ฉุกเฉินของเกษตรกรพอกพูน บั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาวของลูกหนี้
ขณะที่ธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยเป็นแหล่งเงินทุนฉุกเฉินสำหรับคนจนและสังคมชนบทในกัมพูชา แต่ก็ทำให้ครอบครัวเกษตรกรนับหมื่นคนติดกับดักหนี้สินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (ยูเสด) ระบุว่า ในกัมพูชา มีประชาชนประมาณ 61% อาศัยอยู่ในชนบท และ 77% ของครอบครัวชนบทพึ่งพาการเกษตร การหาปลา และป่าไม้เพื่อดำรงชีวิต
หลายคนเห็นว่า ครอบครัวชาวชนบทที่ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การพัฒนาที่รวดเร็วและมากเกินไป การลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย และการหาปลา รวมถึงภาวะแห้งแล้ง ไฟป่า และฝนตกในปริมาณมากที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้พืชผลเกษตรในระบบนิเวศบริเวณ ‘โตนเลสาบ’ ทะเลสาบในกัมพูชาสูญหายและเสียหาย
นอกจากนี้ ผลสำรวจจากรายงานชิ้นนี้ ยังพบว่า ในจำนวนลูกหนี้ 1,800 คน มีกว่าครึ่ง อ้างว่ากู้เงินใช้จ่ายในครอบครัวเป็นหลัก แต่ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า การกู้ยืมเพิ่มขึ้น แต่เป็นการกู้เพื่อนำไปชำระหนี้ที่ค้างกับแหล่งเงินกู้อื่นๆ มากกว่านำไปใช้ลงทุนด้านการเกษตรเพื่อปรับตัวตามสภาพอากาศ และในการกู้ยืมเงิน เกษตรกรต้องใช้สินทรัพย์ตนเอง รวมทั้งที่ดินเป็นหลักประกัน แม้เงินที่กู้มามีอัตราดอกเบี้ยสูงและมีระยะชำระคืนสั้น
องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ หรือเอ็นจีโอ คาดการณ์ว่า มีชาวกัมพูชา 167,000 คน ขายที่ดินเพื่อใช้หนี้สถาบันเงินกู้รายย่อย โดยปริมาณหนี้ของสถาบันไมโครไฟแนนซ์สมัยใหม่ (เอ็มเอฟไอ)ในกัมพูชาช่วงสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 4,213 ดอลลาร์ต่อหัว มากกว่าจีดีพีต่อหัวสองเท่า
อย่างไรก็ดี เอ็มเอฟไอต้องลงทะเบียนกับธนาคารกลางกัมพูชาก่อน ซึ่งในปี 2564 แบงก์ชาติหยุดให้ใบอนุญาตใหม่และให้ไมโครไฟแนนซ์ปรับปรุงการบริการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากกว่านี้
ขณะที่ปัญหาหนี้ไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชาและประเทศอื่นทั่วโลก ตั้งแต่แอฟริกา อินเดีย จนถึงเม็กซิโก ถูกยกมาพูดถึงโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรและนักข่าวมาตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การสร้างหนี้กับเอ็มเอฟไอบางกรีณีก็มีข้อดี โดยหนังสือในปี 2559 ที่เผยแพร่โดยธนาคารโลกเคยแย้งว่า หนี้เอ็มเอฟไอช่วยบรรเทาปัญหาความอดอยากและเพิ่มรายได้ในบังกลาเทศ แต่ธนาคารโลกก็เตือนมาหลายปีแล้ว ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งหนี้สินที่พอกพูน และการเติบโตเชิงพาณิชย์ของธุรกิจไมโครไฟแนนซ์
"นาลี ปิโลจ" ประธานลิคาโด องค์กรเอ็นจีโอพัฒนาสิทธิมนุษยชนกัมพูชา ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซีว่า “เราเริ่มสังเกตเห็นว่า แรงงานในชนบท สูญเสียที่ดิน เพราะปัญหาอื่น ๆ แม้ตอนที่พวกเขามีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่กลับเสียที่ดินนั้นให้กับเอ็มเอฟไอ”
องค์กรลิคาโด พบว่า เกษตรกรเริ่มย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหางานอื่นทำ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับเศรษฐกิจกัมพูชา ที่ภาคเกษตรมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 5 ของจีดีพีในประเทศ ส่วนนายจ้างที่ใหญ่ที่สุดคือภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถูกสหภาพยุโรป(อียู)คว่ำบาตร
“ตัวเลขไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร ในขณะที่ประเทศกำลังเจอปัญหาการท่องเที่ยวซบเซาเพราะโควิด-19 แต่ธุรกิจเอ็มเอฟไอกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น 30% ต่อปี และเงินกู้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 3,000 ดอลลาร์ เป็น 4,000 ดอลลาร์” ปิโลจ กล่าว พร้อมเสริมว่า ในเมืองหลวงอย่างกรุงพนมเปญ เธอพบคนทำงาน 7 วัน/สัปดาห์ จนเป็นเรื่องปกติ เพื่อหาเงินมาใช้หนี้เอ็มเอฟไอ
รายงานในปี 2565 ขององค์กรลิคาโด ระบุว่า องค์กรสนับสนุนการเรียกร้องให้จัดตั้งโครงการผ่อนปรนหนี้สินและลดดอกเบี้ย ควบคู่ไปกับการยกเลิกและปรับปรุงหนี้สินของชาติในด้านการพัฒนาประเทศ
พร้อมแนะนำว่า องค์กรพัฒนาระหว่างระเทศควรสนับสนุนเส้นทางการเงินอื่น นอกเหนือจากเอ็มเอฟไอ โดยให้การสนับสนุนโครงการที่ตรงตามเป้าหมายมากกว่า และแย้งว่าควรมีการจัดเก็บภาษีและควบคุมผลกำไรธุรกิจเอ็มเอฟไออย่างเข้มงวด
“นักลงทุนต่างชาติ ทั้งนักลงทุนชาวเอเชีย ยุโรป อเมริกันและอื่น ๆ ยังคงคิดว่าเอ็มเอฟไอมีประโยชน์ เพราะแนวคิดดั้งเดิมที่ว่าสถาบันนี้ดูดี นักลงทุนได้ผลตอบแทนสูง และทุกคนคิดว่าเอ็มเอฟไอช่วยเหลือคนจน แต่มีเรื่องน่าสงสัยในหลายระดับ ทุก ๆ 15 ปี และนักลงทุนไม่ให้ความสนใจ" ปิโลจกล่าว