วิเคราะห์ "นักท่องเที่ยวจีน" เตรียมแห่เที่ยวไทย มีอะไรต้องรู้บ้าง?
วิเคราะห์ "นักท่องเที่ยวจีน" จะเดินทางเข้าไทยช่วงไหน แล้วไทยควรรับมืออย่างไร? โดย อ้ายจง ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลัง "จีน"ประกาศปลดล็อกมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าออกจีน ที่เข้มงวดอย่างมากเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี ตั้งแต่มีโควิด-19 ระบาดเป็นครั้งแรกในปี 2563 เป็นต้นมา เมื่อเร็วๆ นี้ ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของทางการจีนในการรับมือและควบคุมโควิด-19 มีนโยบาย “ยกเลิกการกักตัว และไม่มีการตรวจโควิด-19 เมื่อเดินทางเข้าจีนอีกต่อไป” โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ออกมาขานรับนโยบาย ไม่ว่าจะ "สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง" หรือ "ตม. จีน" ที่ประกาศกลับมาดำเนินการออกพาสปอร์ตสำหรับประชาชนจีนที่ต้องการเดินทางไปยังต่างประเทศ รวมทั้งจุดประสงค์ "ท่องเที่ยวต่างประเทศ" จากที่ก่อนหน้านี้ "จีนไม่มีการออกพาสปอร์ตสำหรับบุคคลทั่วไปที่จะไปเที่ยวนอกจีน" เพราะยังอยู่ในความเข้มงวดของมาตรการโควิด
"การบินพลเรือนของจีน" ก็ประกาศลดข้อจำกัดเที่ยวบินต่างประเทศที่บินเข้าจีน จากก่อนหน้านี้ "จำกัดจำนวนเที่ยวบิน และปริมาณของผู้โดยสาร" แต่จากนี้จะ "ไม่มีการจำกัดอีกต่อไป"
จากที่เล่ามาข้างต้น ทำให้เกิดความหวังในกลุ่มผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสายท่องเที่ยวว่า "นักท่องเที่ยวจีน" จะเดินทางมา เที่ยวไทย อย่างถล่มทลายอีกครั้ง ขณะที่ก็เกิดกระแสความกังวลในกลุ่มคนไทยจำนวนไม่น้อยว่า การเดินทางเข้าไทยจำนวนมากของคนจีน จะก่อให้เกิดการระบาดหนักอีกครั้งในประเทศไทยหรือไม่?
บทความนี้ อ้ายจง จึงขอวิเคราะห์และสรุปภายใต้ประเด็น ไทยควรรับมืออย่างไร และ นักท่องเที่ยวจีน จะเดินทางเข้าไทยจริงๆ เมื่อไหร่กันแน่? ในการรับมือนั้นขอสรุปเป็น 2 ข้อหลักๆ ดังนี้
1. ต้องติดตามสถานการณ์ในจีนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการประกาศมาตรการต่างๆ ของจีน ที่ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง
ต้องบอกแบบนี้ว่า ตามสไตล์ของการจัดการของ จีน หลังจากประกาศมาตรการอะไรบางอย่าง มักจะมีการประกาศมาตรการที่เกี่ยวข้องตามมา ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นมาตรการที่มีความชัดเจนและลงลึกในแต่ละเรื่อง ต่อจากที่เคยประกาศก่อนหน้า ดังนั้น ก่อนที่จีนจะดำเนินมาตรการในวันที่ 8 มกราคม 2566 อาจมีนโยบายใหม่ๆ เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องอีก ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางออกท่องเที่ยวของคนจีนจะเป็นไปในลักษณะใด
เนื่องจากในการประกาศของจีน ทางการจีนได้ระบุไว้ว่า จะเป็นการปลดล็อกและดำเนินการแบบยังมีการควบคุมอยู่ ไม่ได้เสรีแบบ 100% ขนาดนั้น ตอนที่จีนเกิดระบาดหนักๆ ในปีแรก จีนประกาศ "ห้ามเดินทาง ท่องเที่ยวต่างประเทศ ด้วยกรุ๊ปทัวร์" ดังนั้น จีนก็อาจจะมีประกาศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ก็เป็นได้ แต่ถ้าไม่มีประกาศเพิ่ม ตัวอ้ายจงเองก็ขอวิเคราะห์ไว้เลยว่า "ช่วงแรกของการปลดล็อก การเดินทางของ นักท่องเที่ยวจีน จะมาแบบเดินทางด้วยตนเอง เดินทางแบบครอบครัวกลุ่มเล็กๆ เป็นหลัก"
2. ไทยควรมีการวางแผนป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวปริมาณมากเข้าไทยให้ชัดเจน
อ้ายจง เสนอแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะให้เลือกปฏิบัติกับเฉพาะ นักท่องเที่ยวจีน เท่านั้นนะ แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อเราคาดการณ์กันว่านักท่องเที่ยวจีนอาจเดินทางเข้าไทยจำนวนมากอีกครั้ง ซึ่งปกติแล้วก่อนโควิด-19 ระบาด นักท่องเที่ยวจีนถือว่าครองสัดส่วนมากสุดของนักท่องเที่ยวชาติอื่น ดังนั้น ด้วยปริมาณที่มาก ก็เป็นเรื่องที่สามารถเป็นไปได้ หากจะมีการพบโควิด-19 ที่มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ในจีนเองก็ยังคงมีการระบาดอยู่
อีกหนึ่งเหตุผลที่ขอยกมาสนับสนุนประเด็นนี้คือ ช่วง มกราคม 2566 ที่ จีน กำลังจะปลดล็อกมาตรการนั้น ตรงกับ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลเฉลิมฉลองและเดินทางครั้งใหญ่ของคนจีน ซึ่งทางจีนเองก็ออกมาเตือนเช่นกันว่า ต้องเดินทางท่องเที่ยวด้วยความระมัดระวังและยังต้องป้องกันตนเอง เพราะจีนยังคงมีการระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายคนของจีน ออกมาเตือนถึงการเดินทางไปยังต่างประเทศด้วยว่า "ยังไม่ควรเดินทาง"
และถ้าเราวิเคราะห์แบบตรงไปตรงมา การปลดล็อกการเดินทางระหว่างประเทศของจีนครั้งนี้ จีนตั้งข้อจำกัดสำหรับ "ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าจีน" โดยให้เดินทางเข้าเฉพาะวีซ่าที่มีจุดประสงค์ดังนี้ เรียน ทำงาน ทำธุรกิจ และเยี่ยมญาติหรือครอบครัว แต่สำหรับการท่องเที่ยวนั้น ยังคงไม่ระบุถึง นั่นก็เป็นการสื่อให้เห็นแล้วว่า จีนเองก็ยังมีมาตรการที่ป้องกันการระบาดในประเทศของเขา ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเดินทางเข้าของคนต่างชาติจำนวนมากเช่นกัน เพราะ ตลาดท่องเที่ยวจีน ก็ถือเป็นตลาดใหญ่ ต่างชาติไม่น้อยรอคอยไปเที่ยวจีน ไม่ใช่แค่คนจีนรอคอยไป ท่องเที่ยวต่างประเทศ ด้วยเหตุเหล่านี้ "เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล" ที่เราต้องมีมาตรการรองรับ ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมหาศาลแบบที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ตั้งแต่ช่วงแรกที่จีนปลดล็อกในช่วง "ตรุษจีน" หรือไม่?
ในการวิเคราะห์ของอ้ายจง ขอชี้ไปในทิศทางว่า "มีความเป็นไปได้ที่เราจะยังไม่เห็นนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมหาศาลแบบที่คาดหวัง" เหมือนช่วงก่อนการระบาดโควิด-19
ทำไมจึงวิเคราะห์เช่นนั้น?
นั่นเป็นเพราะ ในความเป็นจริงการเดินทางของคนจีนจะยังคงมีข้อจำกัด แม้จีนจะประกาศปลดล็อกแล้วก็ตาม
หลังจีนปลดล็อกในวันที่ 8 มกราคม 2566 คนจีนสามารถทำพาสปอร์ตเพื่อเดินทางต่างประเทศได้อีกครั้ง แต่หากพิจารณาตามความเป็นจริง ตัวเลขความต้องการอาจสวนทางกับความสามารถในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ประกอบกับการขอวีซ่าของประเทศที่ต้องการเดินทางไปเที่ยวก็ย่อมมีข้อจำกัด ด้วยสาเหตุทำนองเดียวกันกับการขอพาสปอร์ต เพราะเจ้าหน้าที่ของทางสถานทูตและสถานกงสุลของแต่ละประเทศในประเทศจีนเอง ก็มีขีดจำกัดในการดำเนินการแต่ละวัน รวมทั้งตอนนี้หลายประเทศ เช่น อิตาลี ญี่ปุ่น อเมริกา เริ่มพิจารณามาตรการจำกัดสำหรับ นักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศของตน หากคนจีนเดินทางไปจำนวนมากกว่าที่จะรองรับได้ โดยประกาศว่าจะมีการคัดกรองคนที่เดินทางจากจีนอย่างเข้มงวด
ราคาตั๋วเครื่องบิน ยังคงเป็นอีกหนึ่งในข้อจำกัด
แม้จีนประกาศปลดล็อกข้อจำกัดสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทว่าในการดำเนินการอาจไม่ได้ปรับได้ไวขนาดนั้นสำหรับแต่ละสายการบิน ดังนั้น หากเช็กราคา ณ ขณะนี้ยังพบว่า ราคาค่อนข้างสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดมาก บางเส้นทางราคาา 2-3 เท่าตัว
ทาง CGTN สื่อภาคภาษาอังกฤษที่อยู่ในเครือ China Media Group หรือ CMG สื่อหลักของจีน ก็เพิ่งเผยแพร่สกู๊ป "No swift surge in global travel despite easing of China’s COVID-19 rules" เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 หรือแปลเป็นไทยคือ "การเดินทางทั่วโลกจะยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจีนจะผ่อนคลายมาตรการโควิด-19"
โดยในบทความมีการวิเคราะห์ในแนวทางเดียวกันกับที่ อ้ายจง วิเคราะห์ซึ่งถ้าถามว่า "แล้วคนจีนจะเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมากจริงๆ จะเริ่มได้เห็นเมื่อไหร่?"
อ้ายจงขอชี้ไปที่ "ช่วงไตรมาสที่ 2 เมษายน-มิถุนายน" คือหลังมีนาคม 2566 เนื่องจากเป็นช่วงที่จีนจะผ่านพ้นการประชุมสภาประชาชน ซึ่งจะมีการกำหนดคณะบริหารประเทศ นโยบายต่างๆ ที่ชัดเจน และเป็นช่วงที่จีนผ่านพ้นช่วงเดือนอันตรายที่อาจมีการระบาดมากที่สุดคือ มกราคม 2566 คนเดินทางเยอะในช่วง ตรุษจีน จนถึงช่วงต้นกุมภาพันธ์ จากนั้นหากระบาดหนักในช่วงเดินทางตรุษจีน ก็จะเห็นผลกระทบเมื่อทุกคนกลับมาทำงาน กลับมาใช้ชีวิตปกติ นั่นคือ ช่วงกุมภาพันธ์และมีนาคม 2566 นั่นเอง
ช่วงไตรมาสที่ 2/2566 ที่ว่า จะมีช่วงวันหยุด "วันแรงงาน" ช่วงนี้อาจเป็นเทศกาลวันหยุดแรกของ นักท่องเที่ยวจีน ที่จะออกเดินทางอีกครั้งในต่างประเทศ และแน่นอนว่า ไทย จะเป็นหมุดหมายปลายทางของเขา ดังเช่นที่เราได้เห็นไทยเข้าวิน ติดหนึ่งในสถานที่ฮิตของการค้นหาในแพลตฟอร์มท่องเที่ยวของจีน ทั้ง Ctrip Qunar และ Mafengwo หลังจีนประกาศปลดล็อก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการปลดล็อกการเดินทางของจีน "การเดินทางแบบเพื่อธุรกิจ การทำงาน และการใช้ชีวิตในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว" จะมีโอกาสมากกว่า เนื่องจากเหตุผลที่ระบุไปข้างต้น เราได้เห็นข้อจำกัดที่ยังคงมีในช่วงแรกเมื่อปลดล็อก แต่ถ้าคนจีนที่เดินทางไปยังประเทศไทย หรือเดินทางมาไทย เลือกที่จะเดินทาง นั่นหมายความว่า มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน อาจไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว หรือถ้าท่องเที่ยวก็จะเป็นกลุ่มคุณภาพ กลุ่มพร้อมใช้จ่ายสูงเป็นหลักครับ
ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่